แมวปัมปัส

Pampas Cat

Leopardus colocolo

ลักษณะทั่วไป

แมวปัมปัสดูเผิน ๆ เหมือนแมวบ้านพันธุ์ดี ลำตัวอ้วน ขนฟูหนานุ่ม พวกที่อยู่ในเขตหนาวขนจะหนากว่าพวกที่อยู่ในเขตที่อบอุ่นกว่า ตัวเต็มวัยความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 43.5-70 เซนติเมตร หนัก 3-7 กิโลกรัม ความสูงที่หัวไหล่ 30-35 เซนติเมตร สีสันแตกต่างกันตั้งแต่สีเหลือง-ขาว เทา-เหลือง สีน้ำตาล และน้ำตาล-เทา เทาเงิน และเทาอ่อน ลวดลายของขนอาจเป็นจุดหรือเป็นริ้วสีแดงอมเทา หรืออาจเรียบเกือบไม่มีลาย มีขนชั้นนอกยาวคล้ายแผงคอสิงโตขึ้นอยู่บนหลัง ขนนี้อาจยาวถึง เซนติเมตร เมื่อตกใจจะชูชันขึ้น หัวค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับลำตัว ใบหน้ากว้าง จมูกสั้น ตาสีอำพันค่อนข้างโต หูใหญ่ชี้ หลังใบหูสีดำ กลางใบหูมีจุดสีเทาหรือสีขาว ขาสั้นม่อต้อ ช่วงใต้ลำตัวและขาสีขาวหรือสีครีมมีจุดสีน้ำตาลหรือสีดำ หางยาวประมาณ 22-32.2 เซนติเมตร ฟู มีแถบสีน้ำตาลคล้ายปล้อง

แมวปัมปัส (ภาพโดย arkive.org)


ชื่อพ้อง

Lynchailurus colocolo Molina, 1782
Oncifelis colocolo Molina, 1782

เนื่องจากมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก แมวปัมปัสจึงมีสีสันแตกต่างกันมากตามแต่ละพื้นที่ พวกที่อยู่ในที่สูงในเทือกเขาแอนดีส จะมีสีเทา ลายริ้วสีออกแดง ดูคล้ายกับแมวภูเขาแอนดีส แม้จะมีลายไม่มากเท่าแมวภูเขาแอนดีสก็ตาม ในทุ่งปัมปัสของอาร์เจนตินา ขนจะยาวและสีออกไปทางสีน้ำตาลอมเหลือง และลายกลมกลืนไม่เด่นชัด ตัวผู้วัยเด็กตัวหนึ่ง (3 เดือน) ที่จับได้ในตอนกลางของบราซิลมีพื้นสีสนิมและลายสีดำทั่วทั้งตัว แต่เมื่ออายุได้ เดือน ลายตามลำตัวกลับจางหายไป เหลือแต่ลายตามขาและช่วงล่างของลำตัวเท่านั้น

บริเวณตอนกลางของบราซิลพบว่ามีการผสมข้ามชนิดระหว่างแมวปัมปัสกับแมวออนซิลลา (Leopardus tigrinusด้วย

ชื่อเรียกแมวปัมปัสในภาษาต่าง 
อังกฤษPampas Cat grass cat 
ฝรั่งเศสchat des pampas 
เยอรมันPampaskatze 
สเปนgato pajero, gato de los pajonales, osio 
โบลิเวีย, ชิลี, เอกวาดอร์, เปรู, ปารากวัยgato montés
โบลิเวียgato peludo 
บราซิลgato palheiro 
ชิลีgato colocolo 
เอกวาดอร์gatillo 
เปรูosjollo, chinchay 


แมวโกโลโกโล และแมวปันตานัล

เดิมนักวิทยาศาสตร์แบ่งแมวปัมปัสออกเป็นสามชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีลวดลายต่างกันและมีเขตกระจายพันธุ์แยกจากกัน คือพวกที่อยู่ในเทือกเขาแอนดีส ตั้งแต่เอกวาดอร์ไปจนถึงอาร์เจนตินากลุ่มหนึ่ง พวกที่อยู่ในทุ่งปันตานัลกลุ่มหนึ่ง และพวกที่อยู่ทางตะวันตกของชิลี 

แต่ต่อมาในปี 2537 นักวิทยาศาสตร์ได้มีการแยกแมวปัมปัสทั้งสามชนิดย่อย ออกเป็นสามชนิดตามสัญฐานวิทยา ดังนี้

ชื่อชนิดชื่อวิทยาศาสตร์เขตกระจายพันธุ์
แมวปัมปัสLynchailurus pajeros (Desmarest, 1816)เทือกเขาแอนดีสในเขตของเอกวาดอร์จนถึงปาตาโกเนียและอาร์เจนตินา
แมวปันตานัลLynchailurus braccatus (Cope, 1889)ทุ่งใหญ่เขตอบอุ่น และป่ากึ่งเขตร้อนในบราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย
แมวโกโลโกโลLynchailurus colocolo (Molina, 1782)ตอนกลางและตะวันตกเฉียงเหนือของชิลี


อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เชิงพันธุศาสตร์สนับสนุนให้มีการแบ่งย่อยในระดับชนิดย่อยมากกว่าที่จะแยกในระดับชนิด นอกจากนี้ผลจากการแบ่งให้เป็นสามชนิดแยกจากกันก็ไม่สอดคล้องกับการแบ่งตามสัญฐาน นั่นหมายความว่ามีผลต่อกลุ่มประชากรต่างกันด้วย ดังนั้นเรื่องของแมวปัมปัส แมวโกโลโกโล และแมวปันตานัล จึงยังมีความคลุมเคลืออยู่ การจัดอนุกรมวิธานของแมวปัมปัสยังคงต้องมีการศึกษาต่ออีกมาก

เนื่องจากแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่ประกอบการเขียนบทความนี้ อ้างถึงแมวปัมปัสในการเรียกแบบเดิม  ซึ่งรวมถึงแมวโกโลโกโลและแมวปันตานัลด้วย ดังนั้น "แมวปัมปัส" ในบทความนี้ จะเป็นการเรียกรวมทั้งสามชนิดนี้ไว้ด้วยกัน

ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์


เขตกระจายพันธุ์ของแมวปัมปัส 


แม้จะมีชื่อว่าแมวปัมปัส ซึ่งน่าจะสื่อว่าเป็นแมวแห่งทุ่งหญ้าปัมปัสของอเมริกาใต้ แต่ความจริงแมวชนิดนี้มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ได้หลายประเภท นอกจากในทุ่งหญ้าแล้วยังพบได้ในป่าชื้น ป่าเปิด ป่าบึง ซะวันนา พื้นที่กึ่งทะเลทราย ป่าชายเลน พื้นที่เขาลาดชัน พบในที่ราบน้ำท่วมถึงปาตาโกเนีย ไม่พบในป่าฝนในที่ต่ำและชายฝั่ง พบได้ตั้งแต่ระดับ 100 จนถึง 5,000 เมตรในทั้งสองฝั่งของเทือกเขาแอนดีส และอาจเป็นไปได้ว่าอาศัยอยู่ร่วมพื้นที่กับแมวภูเขาแอนดีส (Oreailurus jacobitaในบริเวณตอนล่างของเขตกระจายพันธุ์ แมวปัมปัสอาศัยอยู่ในทะเลทรายปาตาโกเนียที่หนาวเย็นและแห้งแล้ง ตอนเหนือแพร่ไปไกลถึงมาโตกรอสโซในบราซิลตะวันตกเฉียงใต้ ปารากวัย โบลิเวีย เทือกเขาแอนดีสในเปรู ภาคกลางของชิลี และบางส่วนของเอกวาดอร์ เคยพบในป่าบึงพื้นที่ต่ำที่มีหญ้าเอสปาโตขึ้นเป็นหย่อมของอุรุกวัย แต่ประเทศนี้ได้ประกาศว่าแมวชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากประเทศแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีความเชื่อว่าน่ายังหลงเหลืออยู่บ้างแม้ไม่มากนัก

อุปนิสัย


แม้แมวชนิดนี้จะมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมากและเป็นที่รู้จักกันดี แต่แทบไม่มีการศึกษาภาคสนามเลย การขาดแคลนข้อมูลในด้านนี้ทำให้การวางแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยากมาก 

เชื่อว่าแมวปัมปัสน่าจะหากินตอนกลางคืน พบตอนกลางวันบ้าง อาศัยบนพื้นดินเป็นหลัก แต่จะปีนขึ้นต้นไม้หากมีภัยคุกคาม เคยพบว่าแมวปัมปัสในกรงเลี้ยงตัวหนึ่งในบราซิลเลือกพักผ่อนอยู่บนง่ามไม้ที่สูงที่สุดในกรงเสมอ คาดว่าจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กที่หากินตอนกลางคืนเป็นอาหาร รวมถึงนกที่ทำรังอยู่บนพื้นดินเช่นเพนกวินและไข่ นอกจากนี้ยังกินกิ้งก่าและแมลงขนาดใหญ่ด้วย มีรายงานว่าแมวปัมปัสจับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านกินเหมือนกัน โดยเฉพาะในเขตที่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ 

แมวปัมปัสนิสัยดุร้ายมาก แม้จะอยู่ในแหล่งเพาะเลี้ยงก็ตาม

ชีววิทยา


ข้อมูลด้านชีววิทยาของแมวปัมปัสไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดนัก ทราบเพียงว่าตั้งท้อง 80-85 วัน ออกลูกคราวละ 1-3 ตัว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงที่อยู่ในซีกโลกเหนือพบว่าฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม อายุขัยเฉลี่ย ปี ตัวที่อายุมากที่สุดคือ 16.5 ปี

ภัยคุกคาม


การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งสำหรับแมวชนิดนี้ ทุ่งปัมปัสของอาร์เจนตินาและอุรุกวัยเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนเข้าไปแผ้วถางตั้งรกรากกันมาก ส่วนพวกที่อยู่ในชิลีคือกลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุดเนื่องจากพื้นที่เล็ก นอกจากนี้การที่สัตว์เหยื่อของแมวปัมปัสลดจำนวนลงไปก็เป็นปัญหาเช่นกันในอาร์เจนตินาเคยถูกล่าอย่างหนักเพื่อการค้าขนสัตว์ มีบันทึกว่าระหว่างปี 2519-2522 มีหนังแมวปัมปัสถูกส่งออกนอกประเทศมากถึง 78,000 ผืน อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2530 การค้าขนสัตว์ไม่ใช่ภัยใหญ่ของแมวชนิดนี้อีกต่อไป 

สถานภาพ


แม้จะพื้นที่กระจายพันธุ์ในบราซิลกว้าง แต่กลับมีรายงานพบเห็นน้อย สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะแมวปัมปัสรูปร่างคล้ายแมวบ้านในบางพื้นที่ก็เป็นได้ จึงไม่ใคร่ใครใส่ใจ จากการสำรวจที่อุทยานแห่งชาติอีมัสด้วยกล้องกับดักในปี 2551 พบว่าค่อนข้างพบได้บ่อย ประเมินได้ว่าความหนาแน่นประชากรตัวเต็มวัยอยู่ในช่วง 2-10 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ไอยูซีเอ็นจัดว่ายังอยู่ในระดับใกล้ถูกคุกคาม (2551) ไซเตสจัดแมวปัมปัสไว้ในบัญชีหมายเลข 2

ประเทศที่ห้ามล่า

 
อาร์เจนตินา โบลิเวีย ชิลี ปารากวัย

ประเทศที่ควบคุมการล่า

 
เปรู

ไม่มีการคุ้มครอง

 
บราซิล เอกวาดอร์

ไม่มีข้อมูล

อุรุกวัย







ข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.iucnredlist.org/apps/redlist/details/15309/0
  • Mel and Fiona Sunquist. [i]Wild Cats of the World[/i]: The University of Chicago Press, 1988
  • http://www.canuck.com/iseccan/pampas.html
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/pampas.htm
  • http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/accounts/information/Leopardus_colocolo.html
  • http://www.catsg.org/catsgportal/cat-website/catfolk/pampas01.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/pampas01.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 17 ก.ย. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 10 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai