เก้งหม้อ, เก้งดง, กวางเขาจุก, เก้งดำ

Fea's Barking Deer

Muntiacus feae

เก้งหม้อ (Muntiacus feai(ภาพโดย วิมุติ วสะหลาย)


เก้งหม้อมีลักษณะทั่วไปคล้ายเก้งธรรมดาแต่สีเข้มกว่า หนักประมาณ 18-21 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 88 เซนติเมตร สีตามลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง สันหลังเข้มกว่าที่อื่น ๆ หน้าท้องสีขาว หางยาว 23 เซนติเมตร หางด้านบนสีดำ ใต้หางสีขาว ขาท่อนล่างจนถึงกีบสีดำ หน้าสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีดำลากจากโคนเขามาจนถึงหัวตาดูเป็นรูปตัววี  ใบหูไม่มีขน มีต่อมน้ำตาใหญ่ยาว ปลายด้านชี้ไปที่ลูกตามีขอบนูนสูง เก้งหม้อตัวผู้มีเขี้ยวยาวไว้ใช้ต่อสู้ เขี้ยวโค้งออกด้านหน้าเช่นเดียวกับเก้งทั่วไป 

เก้งหม้อตัวผู้มีเขาสั้น เขาแต่ละข้างมีสองกิ่ง กิ่งหน้าสั้นกว่ากิ่งหลัง โคนเขามีขนดำหนาคลุมรอบ ระหว่างโคนเขามีขนสีเหลืองฟูเป็นกระจุก จึงมีชื่ออีกชื่อว่า “กวางเขาจุก”

เก้งหม้อมีคล้ำกว่าเก้งธรรมดามาก บางคนจึงเรียกเก้งดำ แต่บางครั้งคำเรียกเก้งดำอาจหมายถึงเก้งอีกชนิดหนึ่ง  คือชนิด Muntiacus crinifrons ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เก้งชนิดนี้มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า black muntjac ซึ่งอาจมีคนเรียกเป็นไทย ๆ ว่าเก้งดำได้เหมือนกัน 

เก้งหม้ออาศัยอยู่ในเทือกเขาตระนาวศรีชายแดนไทย-พม่า ในประเทศไทยพบที่ตาก ราชบุรี สุราฎร์ธานี ไม่พบในคาบสมุทรมลายู แต่คาดว่าน่าจะพบในลาวและเวียดนามด้วย มักพบอยู่ในป่าดิบทึบบนภูเขา  ในประเทศจีนพบอยู่ในป่าบนภูเขาที่มีป่าสนกับป่าพืชใบกว้างหรือป่าไม้พุ่มผสมกันที่ระดับความสูง 2,500 เมตร 

เก้งหม้อหากินตอนกลางวันและโดยลำพังตามพื้นที่เปิดโล่งระหว่างแหล่งน้ำ กินหญ้า ใบไม้ และผลไม้ที่ตกบนพื้น 

แม่เก้งหม้อตั้งท้องนาน 180 วัน ออกลูกตามพุ่มไม้ทึบ ลูกเก้งจะซ่อนอยู่ในพุ่มไม้จนกระทั่งเริ่มจะเดินตามแม่ได้ 

คาดว่าประชากรเก้งหม้อมีจำนวนน้อยมาตั้งแต่ครั้งอดีตแล้ว ยิ่งในปัจจุบันเก้งหม้อประสบภัยคุกคามมากขึ้นทั้งจากการล่าเพื่อนำไปทำอาหาร และที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ป่าที่อยู่ของเก้งหม้อหลายพื้นที่ได้สูญหายไปตลอดกาลจากการสร้างเขื่อนหลายแห่ง ประชากรที่น้อยอยู่แล้วจึงยิ่งน้อยลงไปอีกจนกลายเป็นสัตว์หายาก ในหลายพื้นที่เก้งหม้ออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
Muntiacus feae
ชื่อไทยเก้งหม้อ, เก้งดง, กวางเขาจุก, เก้งดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์Muntiacus feae
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Cervidae
วงศ์ย่อยCervinae
สกุลMuntiacus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 28 ก.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai