เก้ง

Muntjac, Barking Deer

Muntiacus muntjak



เก้ง เป็นสัตว์กีบจำพวกกวางขนาดเล็ก อยู่ในสกุล Muntiacus เป็นกวางที่มีลักษณะดั้งเดิมที่สุด เกิดขึ้นบนโลกเมื่อ 15-35 ล้านปีมาแล้ว พบซากดึกดำบรรพ์ในเขตประเทศเยอรมนี โปแลนด์ และฝรั่งเศส 

เก้งมีความยาวหัว-ลำตัว 64-135 เซนติเมตร หางยาว 6.5-240 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 41-78 เซนติเมตร หนัก 24-33 กิโลกรัม 

เก้งตัวผู้มีเขาเช่นเดียวกับกวาง เขาเก้งมีขนาดเล็กกว่ากวางมาก ยาว 5-12 เซนติเมตร แต่กลับมีฐานเขายกขึ้นสูงที่สุดในบรรดากวางทั้งหมด กวางส่วนใหญ่ฐานสูงเพียงประมาณ 2.5 เซนติเมตรเหนือฐานกะโหลก แต่ฐานเขาของเก้งยาวเฉลี่ย 15 เซนติเมตร ตัวเก้งตัวเมียไม่มีเขา แต่ก็มีปุ่มนูนบนหัวคล้ายฐานเขา เก้งตัวผู้เกือบทุกชนิดผลัดทิ้งทุกปี ยกเว้นเพียงเก้งในเกาะบอร์เนียวที่ไม่ผลัดเขา

ขนเก้งสั้นเกรียนทั่วตัว ใบหูเปลือยไม่มีขนหรือมีน้อยมาก สีขนหลากหลายไปในแต่ละชนิดมีตั้งแต่สีเหลืองทองจนถึงน้ำตาลเข้ม บริเวณใต้ท้องและด้านในของขาทั้งสี่สีจาง เก้งตัวผู้มีเขี้ยวยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร เขี้ยวเก้งจะโค้งเบนออกนอกปาก ที่หัวตามีต่อมหัวตาที่ใหญ่เป็นพิเศษ ต่อมนี้จะเปิดกว้างเมื่อตกใจ

ปัจจุบันเก้งพบในเขตเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรอินเดีย รวมถึง ไต้หวัน ศรีลังกา และอินโดนีเซีย พบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

เก้งชอบหากินตอนเช้ามืดและตอนเย็น เมื่อตกใจ เก้งจะร้องเสียงดังมาก คล้ายเสียงเห่าของหมา ในภาษาอังกฤษจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า barking deer ซึ่งแปลว่า “กวางเห่า” เก้งมักต่อสู้โดยใช้เขี้ยวมากกว่าใช้เขา

พฤติกรรมการรักษาเขตแดนของเก้งต่างไปแล้วแต่ชนิด แม้แต่ภายในชนิดเดียวกันก็ยังต่างกัน เก้งที่อาศัยอยู่ในป่าทึบจะหวงถิ่นมากกว่าเก้งที่อาศัยใกล้ชายป่าหรือพื้นที่เปิด ปกติเก้งมักไม่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แต่ถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่เปิด ก็จะมีแนวโน้มรวมฝูงมากขึ้น นอกจากเสียงร้องที่ดังเป็นเอกลักษณ์แล้ว เก้งยังสื่อสารทางกลิ่นอีกด้วย เก้งปล่อยกลิ่นออกทางต่อมหัวตาซึ่งล่องลอยไปตามลม และอาจถูต่อมนี้เข้ากับกิ่งไม้ใบไม้เพื่อทิ้งกลิ่นเฉพาะตัวไว้ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมขี้ทิ้งสะสมเป็นกองใหญ่และเยี่ยวทิ้งกลิ่นด้วย 

เก้งที่อาศัยค่อนไปทางเหนือมักผสมพันธุ์ในช่วงต้นปี และออกลูกในตอนกลางปี ส่วนเก้งที่อยู่ทางเขตศูนย์สูตรผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปีไม่มีฤดูที่แน่นอน

ปัจจุบันมีเก้ง 12 ชนิดทั่วโลก ในประเทศไทยมี ชนิด ได้แก่เก้งหม้อ (Muntiacus feaeและเก้งธรรมดา (Muntiacus muntjakเก้งยักษ์ (Muntiacus vuquangensisเป็นเก้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เก้งภูเขาจีน (Muntiacus reevesiเป็นเก้งที่มีขนาดเล็กที่สุด เก้งธรรมดาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีจำนวนโครโมโซมน้อยที่สุด ตัวผู้มีเพียง คู่เท่านั้น
Muntiacus muntjak
ชื่อไทยเก้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์Muntiacus muntjak
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Cervidae
วงศ์ย่อยCervinae
สกุลMuntiacus

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 23 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 27 ก.ย. 64

Powered by Wimut Wasalai