ช้างเอเชีย, ช้างอินเดีย, ช้างไทย

Asian Elephant, Asiatic Elephant

Elephas maximus

ช้างเอเชีย เป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย เป็นสัตว์ที่คุ้นตาคนไทยทุกคน มีความสัมพันธ์กับคนมาช้านาน กษัตริย์ในอดีตทรงช้างทำยุทธหัตถี การสร้างบ้านแปงเมืองก็ต้องมีช้างเป็นกำลังสำคัญ ทุกวันนี้เด็กทุกคนก็ต้องเคยร้องเพลง "ช้าง" มาก่อน และในปัจจุบันก็คงเห็นง่ายขึ้นเพราะช้างเริ่มเข้ามาหากินในเมือง 

ช้างไทย  


เอกลักษณ์ของช้างที่รู้จักกันดีก็คือ อวัยวะพิเศษสองอย่าง นั่นคืองวง และงา งวงเป็นจมูกและริมฝีปากบนที่พัฒนาให้ยื่นยาวออกมาเป็นอวัยวะอเนกประสงค์ ใช้หยิบจับสิ่งของ เปล่งเสียง สูบน้ำ มีกำลังมหาศาล ส่วนงาเป็นเขี้ยวที่พัฒนาให้ใหญ่ขึ้นใช้เป็นอาวุธและงัดยกสิ่งของได้ ช้างเอเชียตัวผู้เท่านั้นที่มีงาใหญ่ ส่วนตัวเมียมีงาเล็กมาก เรียกว่า "ขนาย" ช้างตัวผู้บางตัวก็ไม่มีงา เรียกว่า "ช้างสีดอ"

ช้างในโลกมีสองชนิด นอกจากช้างเอเชียแล้วยังมีช้างแอฟริกาที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ช้างสองชนิดนี้มีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แตกต่างกันเพียงรายละเอียด จุดแตกต่างที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ช้างเอเชียตัวเล็กกว่า หูเล็กกว่า หัวมีสองโหนก และหลังโก่ง ช้างเอเชียมีน้ำหนักราว 3-5 ตัน

ช้างกินอาหารวันละ 150 กิโลกรัม อาหารหลักของช้างคือหญ้า นอกจากหญ้ายังกินยอดไม้ เปลือกไม้ ผลไม้ บางครั้งลูกช้างอาจกินขี้ของแม่ตัวเองเพื่อเพิ่มสารอาหารบางชนิด

ฝูงช้างป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ภาพโดย นรา จิตต์สม)


ช้างเอเชียชอบอาศัยอยู่ในป่าแคระและมีป่าหญ้าผสม พบในทวีปเอเชียตั้งแต่ตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย จีน อินโดจีน เกาะสุมาตรา และบอร์เนียว มีชนิดย่อย (พันธุ์) หลายชนิดย่อย ดังนี้

พันธุ์ศรีลังกา (Elephas maximus maximus)
พันธุ์สุมาตรา (Elephas maximus sumatranus)
พันธุ์แผ่นดินใหญ่ (Elephas maximus indicus)
พันธุ์บอร์เนียว (Elephas maximus borneensis)

ช้างเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนและฉลาดมาก ช้างเอเชียอาจมีอายุได้ถึง 70 ปี และเป็นสัตว์สังคม ฝูงช้างซึ่งเรียกว่า "โขลง" ประกอบด้วยตัวเมียที่เป็นญาติพี่น้องกันและช้างเด็ก โขลงมีช้างตัวเมียที่อาวุโสที่สุดซึ่งเรียกว่า "แม่แปรก" เป็นจ่าโขลง แต่ละโขลงมีสมาชิกประมาณ 6-7 ตัว 

ช้างเด็กตัวผู้เมื่อโตจนมีอายุได้ 6-7 ปีก็จะออกจากโขลงไปหากินโดยลำพัง เมื่ออายุได้ 20 ปีก็จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ เมื่อช้างตัวผู้อยู่ในอาการพร้อมผสมพันธุ์ ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนในเลือดจะสูงขึ้นกว่าปกติถึง 20 เท่า ช้างในช่วงนี้จะดุร้าย กลัดมัน เรียกว่าอาการ "ตกมัน" ช่วงตกมันอาจกินระยะเวลาประมาณ สัปดาห์ 

ช้างตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 10 ปี ตั้งท้องนานถึง 22 เดือน และแต่ละครอกห่างกันนานถึง ปี ลูกช้างในฝูงอาจดูดนมจากแม่หรือจากช้างตัวอื่นในโขลงที่มีน้ำนมให้ดูดก็ได้

ปัจจุบันบัญชีแดงของไอยูซีเอ็นจัดช้างเอเชียไว้ในประเภทที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ และไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ทราบหรือไม่?

ช้างเอเชียตัวเมีย ภาษาอังกฤษเรียก cow
ช้างแม่แปรก ภาษาอังกฤษเรียกว่า matriarch
ช้างเลี้ยงเท่านั้นที่มีลักษณนามว่า "เชือก" ส่วนช้างป่ามีลักษณนามว่า "ตัว" และช้างที่ขึ้นระวางเข้าใช้งานในราชการมีลักษณนามว่า "ช้าง"
ลูกช้างดูดนมแม่ด้วยปากโดยตรง ไม่ใช้งวง
มีความเชื่อว่าช้างเหยียบไข่ไก่ไม่แตกเพราะกลางฝ่าตีนช้างเว้าเข้าไป ไม่เป็นความจริง

Elephas maximus
ชื่อไทยช้างเอเชีย, ช้างอินเดีย, ช้างไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์Elephas maximus
ชั้นMammalia
อันดับProboscidea
วงศ์Elephantidae
สกุลElephas

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 21 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 10 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai