อีเห็นลายเมฆ, ชะมดแปลงลายแถบ
Banded linsang
Prionodon linsang
อีเห็นลายเมฆ เป็นสัตว์ร่วมสกุลกับอีเห็นลายเสือ (Prionodon pardicolor ) ซึ่งแตกต่างจากอีเห็นกลุ่มอื่นมาก หนักเฉลี่ย 0.7 กิโลกรัม ความยาวหัว-ลำตัว 40 เซนติเมตร ลำตัวสีครีมซีด มีแถบสีดำขนาดใหญ่พาดเป็นบั้งตามแนวสันหลัง 5 แถบ มีริ้วกว้างพาดตามลำคอ และมีจุดรี ๆ ตามข้างลำตัว ลวดลายตามลำตัวของอีเห็นลายเมฆสมมาตรกันทั้งสองด้าน หางยาว 34 เซนติเมตร มีแถบสีเข้ม 7-8 แถบไปตลอดความยาวหาง ปลายหางสีดำ มีเล็บคมมากและหดเก็บได้ใช้ในการฉีกผลไม้กิน อุ้งตีนมีขนตามซอกปุ่มนิ้ว
อีเห็นลายเมฆมีสี่ชนิดย่อยคือ P.l. linsang พบในคาบสมุทรมลายู และเกาะสุมาตรา P. l. gracilis พบในเกาะชวาและเกาะบอร์เนียว P. l. linsang fredericae พบในเกาะบังกา และ P. l. interlinus พบในเกาะเบลีตุง
อีเห็นลายเมฆชอบอาศัยอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ที่มีเรือนยอดแน่นทึบและป่าชั้นสองมีหลักฐานว่าปรับตัวเข้ากับพื้นที่ที่มีการรบกวนจากมนุษย์ได้ดี พบในคาบสมุทรมลายู ตอนใต้ของพม่า ตอนใต้ของไทย บอร์เนียว สุมาตรา ชวา บอร์เนียว บังกา และ เบลีตุง เคยพบได้ที่ระดับสูงสุดถึง 2,400 ที่เขตอนุรักษ์เจรันเกาในมาเลเซียและที่อุทยานแห่งชาติเครินจีเซบลัต เขตกระจายพันธุ์ของอีเห็นลายเมฆขึ้นไปทางเหนือที่สุดได้ถึง 15° 20' เหนือ
อีเห็นลายเมฆเป็นสัตว์ขี้อายลึกลับ หากินเวลากลางคืนโดยลำพัง หากินได้ทั้งบนต้นไม้และบนพื้นดิน แต่มักหากินบนต้นไม้มากกว่า ลำตัวที่ยาวเรียวและขาสั้น ช่วยในการดำรงชีวิตอยู่บนต้นไม้ วิ่งและกระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว หางที่ยาวช่วยในการทรงตัว กินทั้งพืชและสัตว์ ชอบกินสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่นหนู กระรอก นก กิ้งก่า งู
ผสมพันธุ์ปีละสองครั้งคือในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนสิงหาคม ออกลูกครั้งละ 2 ตัว ลูกสาวจะอยู่กับแม่จนกระทั่งโตเต็มวัย แต่ลูกชายจะแยกออกไปหากินเองไม่นานหลังจากหย่านมได้ไม่นาน ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุ 10 ปี 8 เดือน
อีเห็นลายเมฆเป็นสัตว์ในกลุ่มชะมดและอีเห็นที่พบได้ยากที่สุดมีรายงานการพบเห็นและภาพถ่ายอีเห็นลายเมฆน้อยมาก แม้จำนวนประชากรในบางพื้นที่ของเขตกระจายพันธุ์มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นภัยคุกคามในขณะนี้ ยังพบได้ทุกพื้นที่ในเขตกระจายพันธุ์ ไม่มีรายงานว่าเป็นเป็นที่ต้องการในตลาดค้าสัตว์ป่าในช่วงเวลาเร็ว ๆ นี้ จึงตีความได้ว่าการลดลงของประชากรเกิดจากการลดของที่อยู่อาศัยเป็นหลัก และอัตราการลดของประชากรก็ยังต่ำกว่าอัตราการลดของที่อยู่อาศัย ไซเตสจัดอีเห็นลายเมฆไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพว่าไม่ถูกคุกคาม (2551) ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
โดยผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว / อช.แก่งกระจาน
ซากสตัฟของอีเห็นลายเมฆ (ภาพโดย Wikimedia Commons. )
อีเห็นลายเมฆมีสี่ชนิดย่อย
อีเห็นลายเมฆชอบอาศัยอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ที่มีเรือนยอดแน่นทึบและป่าชั้นสอง
อีเห็นลายเมฆเป็นสัตว์ขี้อาย
ผสมพันธุ์ปีละสองครั้ง
อีเห็นลายเมฆเป็นสัตว์ในกลุ่มชะมดและอีเห็นที่พบได้ยากที่สุด
ชะมดแปลงลายแถบจากโซเชียลมีเดีย
โดย
Prionodon linsang | |
---|---|
ชื่อไทย | อีเห็นลายเมฆ, ชะมดแปลงลายแถบ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Prionodon linsang |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Viverridae |
วงศ์ย่อย | Prionodontinae |
สกุล | Prionodon |
ข้อมูลอ้างอิง
- http://www.iucnredlist.org/details/41705/0 จาก iucnredlist.org
- Los Angeles Natural History Museum จาก iucnredlist.org
- Cincinatti Zoo จาก Cincinatti Zoo
- http://animaldiversity.org/accounts/Prionodon_linsang/ จาก animaldiversity.org