รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้ อนาคอนดาเรื่องเล็ก เหลือม-หลาม น่าห่วงกว่า

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้ อนาคอนดาเรื่องเล็ก เหลือม-หลาม น่าห่วงกว่า

30 ส.ค. 2559

ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 30 สิงหาคม นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าที่กรมอุทยานฯ จะออกหาตัวงูอนาคอนดาที่คาดว่าเวลานี้น่าจะมีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 100 ตัวแต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้างว่า ก่อนหน้านี้ได้คุยกับนายสัตวแพทย์ (นสพ.) ทวีศักดิ์ อนันต์ศิริวัฒนา สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่รักษา "ไอ้เขียว" อนาคอนดาที่ป่วยเป็นเนื้องอกที่หัวใจ แต่ นสพ.ทวีศักดิ์ ไม่ยอมบอกว่าเจ้าของอนาคอนดาเป็นใคร เพียงแต่บอกว่า เจ้าของนำเข้ามาถูกต้อง แม้ตนพยายามถามว่าใครก็ไม่ยอมบอก อ้างว่าเป็นเรื่องสิทธิคนไข้ ทำให้ตนไม่เชื่อนักว่า "ไอ้เขียว"  นั้นจะเข้าประเทศมาอย่างถูกต้องจริงหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบแล้ว ที่ผ่านมา มีผู้ขอดำเนินการนำเข้างูอนาคอนดา อย่างถูกต้องเพียง รายเท่านั้นคือ นายสมพร มงคล ขออนุญาตเอาเข้ามาเมื่อปี 2549 จำนวน 50 ตัว และมีอยู่ในองค์การสวนสัตว์อีก 17 ตัว เข้าใจว่า เวลานี้ ถ้าทั้งหมดยังไม่ตายก็น่าจะมีขนาดใหญ่เท่ากับ ไอ้เขียว ที่ นสพ. ทวีศักดิ์ผ่าตัดให้ รวมทั้งออกลูกออกหลานมาเพิ่มขึ้นแน่นอน

งูเหลือม (ภาพจาก Wikimedia Commons)


"ผมได้สั่งให้มีการตรวจสอบไปที่ต้นเรื่องแล้วว่า อนาคอนดาทั้งหมดที่ออกจากผู้นำเข้าอยู่ที่ไหนบ้าง ตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่กลัวคือ คนที่เลี้ยงอนาคอนดาที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่มีใบอนุญาตนั้น จะเอาไปปล่อยเพราะกลัวความผิด ขอเรียนว่า หากไม่อยากเลี้ยงหรือเลี้ยงไม่ไหวก็อย่าเอาไปปล่อย ให้แจ้งมาที่กรมอุทยาน กรมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปรับเอง" นายอดิศร กล่าว

รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติกล่าวว่า ไม่อยากให้กังวลเรื่องอนาคอนดากันมากนัก เพราะจากการสอบถามไปยังหัวหน้าอุทยานต่าง ๆเบื้องต้นยังไม่มีใครเคยพบอนาคอนดาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เลย แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ บรรดางู โดยเฉพาะงูเหลือมและงูหลามที่ประชาชนแจ้งให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยไปช่วยจับ กรณีที่เจองูเหล่านี้อยู่ในบ้าน เพราะงูเหลือมและงูหลาม รวมทั้งงูเห่านั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง กรณีที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยแต่ละพื้นที่ไปจับออกมาจากบ้านชาวบ้านนั้น ก่อนจะนำไปปล่อยนั้นจะต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯในพื้นที่นั้นๆ ก่อนที่จะนำไปปล่อยในที่ที่เหมาะสม 

"แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีการแจ้งเจ้าหน้าที่เราน้อยมาก ส่วนใหญ่เขาก็เอาไปปล่อยเอง ไม่รู้ว่าปล่อยกันที่ไหนบ้าง เหมาะสมหรือไม่ ตามหลักแล้วสัตว์เหล่านี้ต้องนำไปปล่อยในป่าอนุรักษ์ เพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไป ไม่ใช่ว่าปล่อยป่าไหนก็ได้ หรือเห็นที่ไหนรกก็ปล่อย เพราะหากทำเช่นนั้น โอกาสที่งูจะเลื้อยเข้าไปอยู่ในบ้านคน หรือเข้าหาคนก็มีอยู่เหมือนเดิม" รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว
Powered by Wimut Wasalai