ช้างป่าบุกโรงอาหารเขาใหญ่ กรมอุทยานเตรียมคุมเข้มการพักแรมในป่า

ช้างป่าบุกโรงอาหารเขาใหญ่ กรมอุทยานเตรียมคุมเข้มการพักแรมในป่า

ภัยแล้งส่อรุนแรง “ไอ้งาเดียว” บุกโรงอาหารเขาใหญ่ กระจก-หน้าต่างพังยับ ธัญญาประกาศห้ามเข้าค่ายพักแรมในอุทยานฯ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หวั่นสัตว์ป่าทำอันตราย กรมน้ำบาดาลตั้ง ฉก. ปูพรมตรวจลักลอบขุดบ่อปรับบ่อละหมื่น อธิบดีแจงเขาใหญ่น้ำเยอะเหลือเฟือ 75 ล้านคิว เพิ่งใช้ไปแค่ 20 ล้านคิวเท่านั้น

1 มี.ค. 2559

ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า ช่วงประมาณตีสองของคืนที่ผ่านมา ช้างป่างาเดียวตัวหนึ่งได้บุกเข้ามายังห้องอาหารวนาลี ซึ่งอยู่ในที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อจะเข้ามาหาอาหาร โดยได้ทำกระจกและหน้าต่างพังเสียหาย แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ที่อยู่เวรยามตอนกลางคืนก็ผลักดันกลับเข้าป่าไปได้ 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยของประชาชนที่เข้าไปเที่ยวในพื้นที่อุทยาน แห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในช่วงหน้าแล้งเช่นนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าชุกชุม เช่นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นต้น




"จึงมีความคิดว่า ต่อไปนี้ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะห้ามกางเต็นท์อย่างเด็ดขาด ส่วนในอุทยานแห่งชาติ จะห้ามกางเต็นท์นอนนอกเขตกางเต็นท์อย่างเด็ดขาด รวมทั้งห้ามมีการเข้าค่ายด้วย ถ้าจะเข้าค่ายพักแรม จะต้องอยู่ในอาคารที่มีความปลอดภัยเพียงพอ ยอมรับว่าไม่ค่อยไว้วางใจและเป็นห่วง ขนาดคนบางทียังมีการเล็ดรอดเข้ามาได้ นับประสาอะไรกับสัตว์ป่า เราจะอนุญาตให้กางเต็นท์ได้เฉพาะบริเวณที่อนุญาตเท่านั้น ซึ่งบริเวณดังนั้นก็กำชับให้แต่ละอุทยานวางเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง" นายธัญญากล่าว

เมื่อถามว่า ข้อห้ามดังกล่าวนี้จะสั่งเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่สัตว์อาจจะออกจากป่ามาหากินนอกป่าใช่หรือไม่ นายธัญญากล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะช่วงนี้หลายพื้นที่พบว่าสัตว์ออกมานอกป่ากันมาก อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีนักท่องเที่ยวบางคนชอบไปกางเต็นท์นอกพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งหากอยู่นอกสายตาเจ้าหน้าที่อาจจะได้รับอันตรายได้ ต้องให้มีความปลอดภัยเอาไว้ก่อน ส่วนการเข้าค่ายพักแรมนั้นสำหรับในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีความเสี่ยง เวลานี้ห้ามเด็ดขาด   เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมาจะไม่คุ้มค่าเลย

เมื่อถามถึงเรื่องที่มีเสียงคัดค้านการที่กรมอุทยานไปสร้างกะทะสำหรับใส่น้ำให้สัตว์ป่าดื่มกินในช่วงหน้าแล้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยบอกว่าอาจจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและเป็นทัศนอุดจาด กรมอุทยานฯ จะทำต่อหรือไม่ นายธัญญากล่าวว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้สัตว์ป่าได้มีน้ำกินในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อหมดหน้าแล้งก็ไม่ได้ทำ ทั้งนี้ก่อนที่จะเติมน้ำก็มีการทำความสะอาดกะทะก่อนทุกครั้ง

"เรื่องที่บอกว่าเป็นทัศนอุดจาดนั้นผมมองว่าว่ากันเกินไป น้อยคนที่จะมองกันแบบนี้ ภาพก็ออกมาทางสื่อมากมาย ใครคิดว่ามันอุดจาดตรงไหน ผมว่านี่เป็นเรื่องของความขัดแย้งกันเฉพาะกลุ่มภายในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ต่อไปในอนาคต กรมอุทยานฯ คงต้องวางแผนเพื่อจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เช่นการทำแหล่งน้ำขนาดเล็กตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่" นายธัญญากล่าว

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล(ทบ.) กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนทุกวันเรื่องการลักลอบขุดบ่อบาดาลมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณตำบลหมูสี มีการร้องเรียนมากที่สุด เวลานี้ ทบ.ตั้งชุดเฉพาะกิจออกปูพรมเพื่อตรวจสอบและตรวจจับทุกวัน หากพบว่ามีการลักลอบขุด ก็จะยึดเครื่องมือและปรับ บ่อละ 10,000 บาท จับกันได้เกือบทุกวัน

"ที่บริเวณรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลำตะคอง-หมูสี ถือว่าเป็นพื้นที่แหล่งน้ำบาดาลที่ค่อนข้างสมบูรณ์แห่งหนึ่ง มีน้ำอยู่ประมาณ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร เวลานี้ใช้ไปไม่ถึง 20 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็นบ่อน้ำของรัฐบาล 300 บ่อ  บ่อของภาคเอกชนอีก 200 บ่อ โดย กรมน้ำบาดาลมีบ่อสังเกตการณ์อยู่ พบว่าระดับน้ำบาดาลพื้นที่ดังกล่าวลดลงประมาณ 1-4 เมตร ยังไม่พบความผิดปกติใดๆ ซึ่งเป็นธรรมดาของช่วงเวลานี้ เมื่อถึงฤดูฝน ก็จะมีน้ำเข้ามาเติมเต็มตามเดิม"นายสุพจน์ กล่าว

อธิบดี ทบ. กล่าวว่า ทั่วประเทศเวลานี้มีบ่อน้ำบาดาลที่มีศักยภาพอยู่ประมาณ 300,000 บ่อ มีน้ำใช้บ่อละ ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ยืนยันว่าเพียงพอสำหรับการใช้ในฤดูแล้งนี้

เมื่อถามว่า ทบ.ได้เข้าไปตรวจสอบการใช้น้ำในสนามกอล์ฟและบรรดาโรงแแรม รีสอร์ต บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บ้างหรือไม่ เพราะมีการร้องเรียนว่า เวลานี้ใช้น้ำกันมากเพื่อรดน้ำต้นหญ้าในสนามกอล์ฟ นายสุพจน์กล่าวว่า เข้าไปตรวจสอบแล้ว โรงแรมและสนามกอล์ฟขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ จะมีสระน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เพื่อใช้น้ำรดต้นไม้และสนามหญ้า ส่วนน้ำบาดาลนั้นจะใช้ในอุปโภค บริโภคในโรงแรมเป็นหลัก

"ไม่มีใครใช้น้ำบาดาลรดน้ำต้นหญ้าในสนามกอล์ฟหรอก เพราะมันราคาแพง ลูกบาศก์เมตรละ บาท 50 สตางค์ ไม่ค่อยคุ้มค่ามากนัก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว โรงแรมขนาดใหญ่จะใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 300 ลูกบาศก์เมตร ทั้งน้ำบาดาล และน้ำผิวดินรวมกัน" นายสุพจน์กล่าว


Powered by Wimut Wasalai