กรมอุทยานฯ-สัตวแพทย์ มช. คิดวิธีจำแนกงาช้างแอฟริกากับเอเชียโดยไม่ต้องทำลายได้เป็นครั้งแรกของโลก

กรมอุทยานฯ-สัตวแพทย์ มช. คิดวิธีจำแนกงาช้างแอฟริกากับเอเชียโดยไม่ต้องทำลายได้เป็นครั้งแรกของโลก

ใช้เวลาแค่ 10 นาทีรู้ผล จากเดิมต้องบดงาช้างไปตรวจดีเอ็นเอใช้เวลา 2 สัปดาห์ อุทยานฯ เตรียมลุยตรวจเข้มร้านค้างาช้าง เผยไซเตสชมไทยปฏิบัติตามแผนคุมค้างาช้าง 100 % จ่อขอถอดรายชื่อจาก 8 ประเทศลอบค้ารุนแรง

19 ธ.ค. 2558

ห้องข่าวกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จ.เชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  แถลงถึงความสำเร็จของโครงการวิจัยเรื่อง "การแยกงาช้างเอเชียและงาช้างแอฟริกาด้วยวิธี HANDHELD XRF หรือ เครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (X-RAY Fluorescence;XRF)  โดยนายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสนับสนุนตัวอย่างงาช้างแอฟริกาที่คดีสิ้นสุดแล้วในการศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือตรวจคัดแยกงาช้างเอเชียกับแอฟริกาด้วยวิธี HANDHELD XRF หรือ เครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (X-Ray Fluorescence:XRF) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจงาช้างโดยไม่ต้องทำลาย และใช้ระยะเวลาในตรวจไม่เกิน 10 นาที ก็จะทราบผลว่างาช้างหรือเครื่องประดับหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างนั้นทำมาจากงาช้างเอเชียหรือแอฟริกา และเป็นงาช้างจริงหรือไม่ ขณะที่วิธีการตรวจสอบงาช้างที่ทำอยู่ปัจจุบัน คือการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ(DNA) ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากงาช้างด้วยการขูดหรือตัดงาช้างไปบดเพื่อตรวจสอบทำให้งาช้างหรือผลิตภัณฑ์งาช้างที่มีมูลค่าสูงเกิดตำหนิเสียหายได้ ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า สัปดาห์และมีความซับซ้อน ไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบงาช้างของผู้ที่นำมาจดทะเบียน ตลอดจนตรวจสอบร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์งาช้าง เพื่อเป็นการกำกับดูแลและควบคุมการค้างาช้างภายในประเทศไทยให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นความภูมิใจของนักวิจัยไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก 


นายอดิศรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะมีการพัฒนาวิธีการตรวจให้สามารถบ่งบอกประเทศที่มาของงาช้างได้ เพื่อส่งกลับงาช้างไปยังประเทศต้นทาง เพราะเราก็ไม่อยากเก็บรักษาเนื่องจากเป็นภาระ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีงาช้างแอฟริกาบางส่วนที่หลุดออกมาจากคลังเก็บรักษาของรัฐบาลในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาโดยมีการตีทะเบียนชัดเจน  หากส่งคืนแล้วก็ยังอาจเป็นปัญหาการหลุดรอดออกสู่ตลาดมืดอีก ซึ่งต้องหารือกับทางไซเตสในการแก้ปัญหานี้ ทั้งนี้ล่าสุดมีการจับกุมงาช้างแอฟริกา จำนวนกว่า 200 ชิ้น ที่สนามบินสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ถูกนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ กำลังจะส่งต่อไปยังประเทศลาว ซึ่งถือเป็นเส้นทางใหม่ของการลักลอบค้างาช้างผ่านประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวัง โดยในการประชุมคณะกรรมการไซเตสในเดือน ตุลาคม 2559 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศไทยจะขอให้ไซเตสถอดรายชื่อออกจาก ประเทศที่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมการค้างาช้าง เพราะมีปัญหาการลักลอบค้างาช้างอย่างรุนแรง ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาไทยเป็น ใน ประเทศที่ได้รับคำชื่นชมจากไซเตส โดยสามารถปฏิบัติการตามแผนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

ด้านนายสัตวแพทย์กรกฏ  งานวงศ์พาณิชย์ หัวหน้าโครงการแยกชนิดงาช้างฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า เครื่องมือตรวจคัดแยกงาช้างเอเชียกับแอฟริกาด้วยวิธี HANDHELD XRF หรือ เครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์(X-Ray Fluorescence:XRF) เป็นเครื่องมือพกพา ลักษณะคล้ายปืน น้ำหนักประมาณ กิโลกรัม เหมาะกับงานในภาคสนาม ซึ่งเดิมมีการใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมมาก่อนอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการประยุกต์เครื่องมือมาใช้ในการตรวจพิสูจน์งาช้าง การทำงานของเครื่องภายในจะบรรจุรังสีเอกซ์ที่ผ่านการโปรแกรมการคำนวณสมการในการทำนายธาตุชนิดต่างๆ ทางธรณีวิทยาบรรจุไว้ เมื่อนำเครื่องดังกล่าวมาจี้ที่พื้นผิวงาช้างหรือผลิตภัณฑ์งาช้างที่ต้องการตรวจสอบชนิดพันธุ์โดยตรง ตัวเครื่องจะปล่อยรังสีเอกซ์มายังพื้นผิวของงาช้างและสามารถบอกค่าปริมาณแร่ธาตุที่พบในงาช้างได้ทันที โดยงาช้างแอฟริกากับเอเชียจะต่างกันที่องค์ประกอบของแร่ธาตุ หลายชนิดโดยเฉพาะเซอร์โคเนียม (Zr) ซึ่งเป็นธาตุจากดินที่พืชอาหารช้างขึ้นอยู่ จะพบในงาช้างแอฟริกามากกว่างาช้างเอเชียและพบว่าเป็นแร่ธาตุที่มีการกระจายค่อนข้างสม่ำเสมอในงาช้างไม่ว่าจะเป็นแนวตามยาว ตามขวางหรือแม้แต่ในเนื้องาชั้นนอก (enamel) กับเนื้องาชั้นใน (dentine) ดังนั้นจึงใช้แร่ธาตุนี้มาเป็นสัดส่วนในการสร้างสมการทำนายชนิดของงาช้าง ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำถึง 93 เปอร์เซ็นต์ และมีความเที่ยงตรงถึง 100 เปอร์เซ็นต์

นายสัตวแพทย์กรกฏ กล่าวอีกว่า เครื่องมือตรวจคัดแยกงาช้างเอเชียกับแอฟริกาด้วยวิธี HANDHELD XRF หรือ เครื่องเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์(X-Ray Fluorescence:XRF) สามารถนำไปใช้บนมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน สะดวกรวดเร็ว ขณะนี้วิธีการตรวจพิสูจน์ด้วยดังกล่าวถือเป็นการคิดค้นสำเร็จเครื่องแรกของโลก โดยขณะนี้ กำลังรอการตีพิมพ์รับรองในวารสารต่างประเทศด้านนิติวิทยา
Powered by Wimut Wasalai