เดิน 388 กม. ถึงกทม. ยื่นต้านเขื่อน "แม่วงก์"

เดิน 388 กม. ถึงกทม. ยื่นต้านเขื่อน "แม่วงก์"

23 ก.ย. 2556

ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์กว่า พันคนเดินเท้ากว่า 388 กม. ถึงกรุงเทพแล้ว

วันที่ 21 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินเท้าเพื่อคัดค้านรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งเป็น ในโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยกลุ่มของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่นำโดย นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิ และเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และกลุ่มรักษ์ป่าแม่วงก์ ซึ่งเดินเท้าออกมาจากพื้นที่ลานนกยูง อันเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นหัวงานการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ไปสู่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นใจกลางของเมืองหลวง เพื่อประกาศ และกระจายข่าวให้ประชาชน ข้างทาง ระหว่างทางเดิน ซึ่งมีระยะทาง ประมาณ 388 กิโลเมตร ให้ทราบผลเสียของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร โดยเริ่มเดินตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน กำหนดถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 กันยายน

นายศศินให้สัมภาษณ์ว่า วัตถุประสงค์ของการเดินเท้า 388 กิโลเมตรในครั้งนี้ เพื่อคัดค้านการทำงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยที่ผ่านมา สผ. ซึ่งมีนายสันติ บุญประคับ เลขาธิการ สผ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ขึ้นมาพิจารณาอีเอชไอเอ โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยนายสันติเป็นประธาน คชก.ชุดนี้เอง

"ที่พวกเราไม่เห็นด้วยกับขั้นตอนวิธีการพิจารณาอีเอชไอเอของ คชก.ชุดนี้ มีหลายประการ คือ ทางประธานคือนายสันติบอกว่า คชก. มีอำนาจเพียงแค่ให้ความคิดเห็นประกอบในอีไอเอชุดนี้เท่านั้น โดยหลังจากนี้ เมื่อ คชก. พิจารณาเสร็จก็จะส่งให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นต่อ แล้วส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ให้ความเห็นอีกที จากนั้น จึงให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าจะเอาหรือไม่เอาเขื่อน ซึ่งตามหลักการแล้ว ไม่น่าจะทำแบบนี้ อย่างนี้มี คชก. และองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมไปทำไม เพราะ ครม.เองก็น่าจะมีธงในใจอยู่แล้วสำหรับเขื่อนแม่วงก์" นายศศินกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิสืบกล่าวว่า ที่สำคัญคือในการพิจารณาอีเอชไอเอนั้นมีรายละเอียดสำคัญๆ มากที่เป็นข้อมูลใหม่ ที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเสนอให้ทางบริษัทเป็นผู้รับทำอีเอชไอเอฉบับนี้ไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น การศึกษาระบบนิเวศของเสือโคร่ง ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีรายงานออกมาชัดเจนว่า ที่ผ่านมา มีเสือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ขยายพื้นที่หากินออกมาอาศัยอยู่ในป่าแม่วงก์นับ 10 ตัว มีภาพเป็นหลักฐานบันทึกเอาไว้ชัดเจน แต่ทางบริษัทที่ปรึกษา หรือทางประธาน คชก.ก็ไม่ได้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้

นายศศินกล่าวว่า มีการอ้างว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ชาวบ้านได้ ในขณะที่หากสร้างเขื่อนแล้วจะต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ เป็นไม้ใหญ่ประมาณ 500,000 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้มีไม้สักประมาณ 50,000 ต้น ในขณะที่เรื่องปัญหาน้ำท่วมนั้น สามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้โดยการใช้วิธีบริหารจัดการน้ำ เวลานี้มีทั้งกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน ถามว่า ทำไม หน่วยงานนี้ ถึงไม่เข้าไปศึกษาปัญหา และวิธีการแก้ไขให้ชาวบ้าน ตนเชื่อว่าถ้าตั้งใจทำกันจริงๆ ก็แก้ได้ แต่ที่แก้ไม่ได้ เพราะไม่ทำกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดเวลาที่มีการเดินเท้าของกลุ่มนายศศิน และเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น ได้มีชาวบ้าน ดารานักร้อง นักธุรกิจ เซเลบ นักเรียนนักศึกษา เข้ามาร่วมเดินสมทบจำนวนมาก ล่าสุด วันที่ 21 กันยายนนั้น มีผู้ร่วมเดินประมาณ 1,000 คน โดยกลุ่มของนายศศินจะค้างคืนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เวลา 05.30 น. วันที่ 22 กันยายน จุดหมายที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเวลา 18.00 น. หลังจากนั้น จะอ่านแถลงการณ์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และจะยื่นหนังสือคัดค้านต่อ นายอุดม ไกรวัฒน์นุสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรี ทส.

Powered by Wimut Wasalai