เสือไฟแอฟริกา

African golden cat

Profelis aurata

ลักษณะทั่วไป


เสือไฟแอฟริกาเป็นแมวขนาดกลาง รูปร่างทั่วไปคล้ายเสือไฟ (Catopuma temminckiiที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความยาวลำตัว 72-98 เซนติเมตร ตัวผู้น้ำหนักเฉลี่ย 11-14 กิโลกรัม ตัวที่หนักที่สุดหนักถึง 18 กิโลกรัม

สีลำตัวต่างกันมาก มีตั้งแต่สี ทอง น้ำตาลแดง ส้ม ไปจนถึงสีเทาเงิน จนครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจว่าเป็นแมวต่างชนิดกัน เคยพบรายงานว่าเสือไฟแอฟริกาในกรงเลี้ยงเปลี่ยนสีไปตามอายุและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่นครั้งหนึ่ง เสือไฟตัวหนึ่งในสวนสัตว์ลอนดอนเปลี่ยนสีจากน้ำตาลแดงทั้งตัวไปเป็นสีเทาทั้งตัวภายในเวลาสี่เดือน ส่วนลวดลายก็มีมีลายต่างกันสี่แบบ คือแบบลายจุดทั่วทั้งตัว แบบมีลายจุดจางบนหลังกับคอ แบบมีลายที่สีข้าง และแบบที่มีลายที่หน้าท้อง ที่อยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำซาอีร์มักมีจุดมากกว่าพวกทางตะวันออก



แก้ม คาง และใต้ลำตัวสีจาง ใบหน้ามีลายแต้มขาวหลายแต้มรอบตาและเหนือปาก ใต้ท้องและด้านในขาสีซีดมีจุดสีเข้มประปราย หัวค่อนข้างเล็ก ปากค่อนข้างใหญ่ ม่านตาอาจมีสีหลายแบบตั้งแต่สีเขียวจนถึงสีน้ำตาลทอง หูเล็ก ใบหูกลม หลังหูดำ หางยาวไม่เกิน 40 เซนติเมตร มักมีความยาวไม่เกินครึ่งหนึ่งของความยาวหัว-ลำตัว และมีสีเส้นสีเข้มที่ด้านบนของหาง ปลายหางสีน้ำตาลหรือสีดำ บางตัวอาจมีปล้องจาง ๆ 

การศึกษาในปลายทศวรรษที่ 60 พบว่า แม้เสือไฟแบบสีน้ำตาลแดงกับแบบเทาอมเงินพบได้ทั่วไปบ่อยเท่ากันในทุกส่วนของเขตกระจายพันธุ์ แต่การกระจายของลวดลายไม่สม่ำเสมอ เช่น แบบที่เป็นลายจุดทั่วตัวหรือบริเวณหลังพบได้เฉพาะทางแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น เสือไฟแอฟริกาที่อยู่ทางตะวันออกของเขตกระจายพันธุ์ค่อนข้างมีสีเรียบ มีจุดบริเวณด้านข้างหรือหน้าท้องเท่านั้น 

นอกจากนี้ยังมีเสือไฟแอฟริกาแบบที่เป็นสีดำทั้งตัวแบบเมลานิซึมเช่นเดียวกับเสือดำด้วย จากการสำรวจหนังเสือไฟจากแหล่งต่าง ๆ พบว่า มีแบบสีแดงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ สีเทา 46 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเสือไฟแอฟริกาดำราว เปอร์เซ็นต์ของเสือไฟทั้งหมด เสือไฟดำพบได้ทั่วเขตกระจายพันธุ์

ชื่อเรียกเสือไฟแอฟริกาในภาษาต่าง 
ฝรั่งเศสchat doré africain
เยอรมันAfrikanische Goldkatze
สเปนgato dorado
ลิงกาลา (แอฟริกาตะวันตก)gnaou ya zamba
โคตา, แฟง, คเวเล (กาบอง)lobwa, ebyo, ebie
ลูกินา, ลูกอนโจ, คิปซีกี (แอฟริกาตะวันออก)embaka, ekinyange, semaguruet 
แมนดินกา (Mandinka)soukalan
ฟูลา (แอฟริกาตะวันตก)donnou, dondou
บูตีพิกมี (ซาอีร์)osolimi, makolili, akalwa, egabasoti, esele, a’ka
จีน非洲金猫


แม้ภายนอกดูเผิน ๆ คล้ายเสือไฟในเอเชีย แต่ทั้งสองชนิดก็มิได้มีสายเลือดใกล้ชิดกันแต่อย่างใด การวิเคราะห์ทางพันธุ์กรรมแสดงว่าเสือไฟแอฟริกาอยู่ในกลุ่มเดียวกับคาราคัลและเซอร์วัล ความคล้ายคลึงกับเสือไฟในเอเชียอาจเป็นการเบนเข้าของวิวัฒนาการของสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าชื้นเหมือนกัน 

มีสองชนิดย่อยคือ P.a.celidogaster อาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ส่วน P.a.aurata อาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกากลาง

ถิ่นที่อยู่อาศัย


พบในป่าฝนเขตศูนย์สูตรที่ชุ่มชื้น ในป่าแล้งก็อาจพบได้ใกล้แหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังพบในป่าไผ่ ทุ่งมัวร์แบบแอลป์ ป่าแบบกึ่งแอลป์ พบได้จนถึงระดับความสูง 3,600 เมตรในอูกันดาและในเคนยา เสือไฟแอฟริกามักอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับเสือดาว ภาษาถิ่นที่เรียกเสือไฟแอฟริกาในบางพื้นที่มีความหมายว่า น้องเสือดาว 

เขตกระจายพันธุ์ของเสือไฟแอฟริกา 



เสือไฟแอฟริกาปรับตัวเข้ากับป่าที่มีการทำไม้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากป่าที่เรือนยอดถูกทำลายทำให้พืชชั้นล่างเติบโตและหนาแน่นขึ้น พื้นที่แบบนี้มักมีสัตว์ฟันแทะชุกชุม จึงเป็นประโยชน์ต่อเสือไฟแอฟริกาเนื่องจากสัตว์ฟันแทะคืออาหารโปรด อย่างไรก็ตาม ป่าที่เหมาะกับแมวชนิดนี้ที่สุดก็ยังคงเป็นป่าดั้งเดิมที่ปราศจากการรบกวนนั่นเอง

เขตกระจายพันธุ์ของเสือไฟแอฟริกามีสองพื้นที่ใหญ่ ๆ ทางตะวันตกของทวีปพบในประเทศเซเนกัล แกมเบีย ไลบีเรีย กีนี กีนีบิสเชา เซียราลีโอน ไอวอรีโคสต์ กานา โตโก เบนิน และอาจพบในบูรกินาฟาโซ มาลี และไนเจอร์  อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในแอฟริกากลาง พบในประเทศแคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง อิเควตอเรียลกีนี กาบอง คองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แองโกลา อูกันดา รวันดา บุรุนดี จนถึงประเทศเคนยา ทั้งสองกลุ่มมีพื้นที่แยกจากกันโดยมีประเทศไนจีเรียคั่นซึ่งในประเทศนี้อาจพบเสือไฟแอฟริกาพันธุ์ตะวันตกด้วย 

อุปนิสัย

เสือไฟแอฟริกาเป็นสัตว์ขี้อาย หาตัวยาก ดังนั้นเราจึงรู้จักแมวชนิดนี้น้อยมาก จากการศึกษาในกรงเลี้ยงพบว่าเสือไฟแอฟริกาชอบปีนป่ายและทำได้ดีกว่าแมวที่อาศัยบนพื้นดินเป็นหลักชนิดอื่น เคยพบว่านอนพักที่ง่ามไม้เตี้ย ๆ ตอนกลางวัน จึงเชื่อว่าน่าจะใช้ชีวิตแบบกึ่งพื้นดินกึ่งต้นไม้ อย่างไรก็ตาม การที่แมวชนิดนี้มีหางสั้นทำให้น่าสงสัย เนื่องจากแมวที่อาศัยบนต้นไม้มักมีหางยาวเพื่อสร้างสมดุลขณะปีนป่าย

เสือไฟแอฟริกาหากินโดยลำพัง ส่วนใหญ่หากินเวลากลางคืนโดยเฉพาะหัวค่ำและใกล้รุ่ง ส่วนตอนกลางวันพักผ่อนบนต้นไม้ พบที่หากินตอนกลางวันบ้างแต่ไม่บ่อยนัก เช่นเสือไฟแอฟริกาในตะวันตกเฉียงใต้ของอูกันดาจับดุยเกอร์หน้าดำ (Cephalophus nigrifronsซึ่งหากินเวลากลางวันเป็นอาหารหลัก 

ล่าเหยื่อด้วยการย่องและกระโจนเข้าใส่ สัตว์ที่เป็นอาหารหลักได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางที่หากินบนพื้นดิน เช่น ดุยเกอร์ สัตว์ฟันแทะ ไฮแรกซ์ ลิง ปลา และนกหลายชนิด  จากการวิเคราะห์ขี้ที่เก็บได้ในซาอีร์พบว่าเหยื่อ 51 เปอร์เซ็นต์คือสัตว์ฟันแทะ  อีก 20 เปอร์เซ็นต์คือสัตว์กีบ สัตว์ฟันแทะที่เป็นเหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่หนักไม่ถึง 300 กรัม นอกจากนี้ยังเคยพบว่าเสือไฟกินซากเหยื่อของนกอินทรีที่ตกลงมาด้วย 

พฤติกรรมด้านการรบกวนสัตว์เลี้ยงของเสือไฟแอฟริกาต่างไปตามสถานที่ เสือไฟบริเวณอุทยานแห่งชาติบวินดีในอูกันดามีประวัติเข้ามาจับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ของชาวบ้านกินบ่อยครั้ง ส่วนอุทยานแห่งชาติไทในไอวอรีโคสต์ไม่ค่อยพบเหตุการณ์ดังกล่าว 

ชีววิทยา

ข้อมูลด้านชีววิทยาของเสือไฟแอฟริกามีไม่มากนัก ส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเกตในแหล่งเพาะเลี้ยง เสือไฟแอฟริกาตั้งท้องนานราว 75-78 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว ส่วนใหญ่มี ตัว แม่แมวออกลูกในโพรงไม้หรือพุ่มไม้ที่แน่นทึบ ลูกแมวแรกเกิดหนัก 180-235 กรัม เมื่อแรกเกิดบางตัวอาจมีขนหูฟู ลูกแมวเพิ่มน้ำหนักวันละประมาณ 30 กรัม ตาลืมเมื่ออายุได้ วัน  หย่านมเมื่ออายุได้ 14 สัปดาห์ เมื่ออายุได้ 18 เดือนก็จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในแหล่งเพาะเลี้ยงเสือไฟแอฟริกามีอายุ 12 ปี

ภัยที่คุกคาม


บางพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออก เสือไฟแอฟริกาเป็นที่เคารพบูชาอย่างมากในศาสนาท้องถิ่น ชนเผ่าปิกมีในแคเมอรูนถือว่าหางของเสือไฟใช้เป็นเครื่องรางคุ้มครองในการออกล่าช้าง หนังใช้ทำเสื้อคลุมซึ่งถือว่ามีค่ามาก ห้ามซื้อขาย ความเชื่อเช่นนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้น้อยมาก เนื่องจากเมื่อนักสำรวจสอบถามเกี่ยวกับเสือไฟแอฟริกา ชาวบ้านก็มักไม่อยากให้ความร่วมมือ

แม้ชาวป่าจะล่าเสือไฟเพื่อการนี้ แต่ภัยคุกคามหลักของเสือไฟก็ไม่ใช่จากการล่า หากเป็นการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยจากการทำไม้ ป่าทึบในแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายไปมาก การค้าเนื้อสัตว์ป่าอย่างแพร่หลายก็คุกคามการอยู่รอดของแมวชนิดนี้ แม้จะไม่ได้ล่าเสือไฟโดยตรง แต่สัตว์ที่ถูกล่าก็เป็นสัตว์เหยื่อของเสือไฟ บางครั้งเสือไฟก็ติดกับดักที่นายพรานดักสัตว์ชนิดอื่น อีกทั้งกฎหมายยังคุ้มครองสัตว์ชนิดนี้ไม่มากนัก ในจำนวน 26 ประเทศที่เป็นเขตที่อยู่อาศัยของเสือไฟแอฟริกา มีเพียง 12 ประเทศเท่านั้นที่กฎหมายห้ามล่า

สถานภาพ

แม้จะหาตัวยาก แต่เชื่อว่าแมวชนิดนี้มีประชากรไม่น้อยอย่างที่เห็น เนื่องจากมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าทึบ จึงไม่ค่อยมีใครพบเห็น ไอยูซีเอ็นประเมินว่ามีประชากรของตัวเต็มวัยประมาณ 10,000 ตัวและมีแนวโน้มลดลง สถานภาพประชากรอยู่ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550) ไซเตสจัดให้เสือไฟแอฟริกาอยู่ในบัญชีหมายเลข 2

ประเทศที่ห้ามล่า

แองโกลา เบนิน บูรกินาฟาโซ คองโก กานา ไอวอรีโคสต์ เคนยา ไลบีเรีย ไนจีเรีย รวันดา เซียราลีโอน ซาอีร์

ควบคุมการล่า

กาบอง ไลบีเรีย โตโก

ไม่มีการควบคุมการค้าภายใน

คองโก เซียราลีโอน

ไม่มีการคุ้มครอง

แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง แกมเบีย กีนีบิสเชา เซเนกัล แทนซาเนีย อูกันดา

ไม่มีข้อมูล

บุรุนดี กีนี 
Profelis aurata
ชื่อไทยเสือไฟแอฟริกา
ชื่อวิทยาศาสตร์Profelis aurata
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลProfelis

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/afgold.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/aurata01.htm
  • http://www.animalinfo.org/species/carnivor/profaura.htm

เผยแพร่ : 29 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai