ลิงซ์แคนาดา

Canada Lynx

Lync canadensis

ลิงซ์แคนาดา (ภาพโดย Michael_Zahra)


ลักษณะทั่วไป


ลิงซ์แคนาดาเป็นแมวขนาดใหญ่ ความยาวหัว-ลำตัว 67-107 เซนติเมตร หางยาว 5-13 เซนติเมตร หนัก 4.5-17.3 กิโลกรัม ตัวผู้หนักกว่าตัวเมียเล็กน้อย มีสีสันได้หลากหลาย ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลอมเหลือง ขนลำตัวด้านแผ่นหลังอาจมีปลายสีขาวคล้ายหิมะเกาะ บางตัวมีแต้มจุดสีคล้ำ หางสั้น มีปล้องสีดำ ปลายหางดำ ขนหนายาว โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะยาวเป็นพิเศษ ใบหูเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนปลายหูเป็นพู่สีดำ อุ้งตีนกว้างและขนแน่น ช่วยกระจายน้ำหนักตัวในการเดินบนดงหิมะได้เป็นอย่างดี 

ถิ่นที่อยู่อาศัย


ลิงซ์แคนาดาอาศัยอยู่ในป่าเขตหนาวของทวีปอเมริกาเหนือ พบในแอแลสกา ประเทศแคนาดา และสหรัฐอเมริกาตอนบน ลิงซ์แต่ละตัวมีอาณาเขตเฉลี่ย 15-50 ตารางกิโลเมตร พวกที่อยู่ในพื้นที่ละติจูดต่ำมักมีพื้นที่กว้างกว่าพวกที่อยู่ละติจูดสูง ความหนาแน่นประชากรลิงซ์เฉลี่ย 1-45 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร (รวมลูกแมว) 



อุปนิสัย


อาหาร 60-97% ของลิงซ์แคนาดาคือกระต่ายป่าสโนว์ชู (Lepus americanusอาจมีลูกแคริบูบ้าง แต่เป็นสัดส่วนน้อยมาก จำนวนประชากรของลิงซ์แคนาดากับสโนว์ชูจึงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ในเขตเหนือ จำนวนของกระต่ายป่าสโนว์ชูเพิ่มขึ้นสูงสุดทุกสิบปี ส่วนจำนวนประชากรของลิงซ์แคนาดาก็มีรูปแบบเหมือนกันแต่ตามหลังของสโนว์ชูประมาณ 1-2 ปี จำนวนประชากรอาจผันแปรอย่างมากในวัฏจักร ในช่วงสูงสุดอาจมีกระต่ายป่ามากถึง 2,300 ตัวต่อตารางกิโลเมตร ส่วนในช่วงต่ำสุดอาจเหลือเพียง 12 ตัวต่อตารางกิโลเมตร 

ชีววิทยา


พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของลิงซ์แคนาดาไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก แต่การที่พื้นที่หากินของตัวเมียซ้อนเหลื่อมกันและมักจะอยู่ภายในพื้นที่หากินของตัวผู้ จึงเชื่อได้ว่าน่าลิงซ์แคนาดามีสังคมครอบครัวแบบฮาเร็ม

ลิงซ์แคนาดาตัวเมียติดสัดปีละครั้ง ระยะเวลาติดสัดนาน 1-2 วัน ส่วนใหญ่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ตั้งท้องนาน 8-10 สัปดาห์ ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว อาจมากถึง ตัว ลูกลิงซ์แรกเกิดหนักประมาณ 200 กรัม เมื่ออายุได้หนึ่งเดือนก็เริ่มกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว พออายุได้ห้าเดือนก็หยานม ลูกแมวจะยังคงอยู่กับแม่จนถึงฤดูผสมพันธุ์ครั้งถัดไป พี่น้องที่แยกจากแม่ไปแล้วแล้วอาจยังคงหากินอยู่ด้วยกันระยะหนึ่งก่อนจะแยกออกไปหากินตามลำพัง ตัวผู้ไม่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก แมวสาวจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 21 เดือน ส่วนแมวหนุ่มจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 33 เดือน ในธรรมชาติลิงซ์แคนาดามีอายุขัยประมาณ 14.5 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้ถึง 26 ปี

สถานภาพ


ในอดีต ภัยคุกคามสำคัญของลิงซ์แคนาดาคือการล่าเพื่อเอาขน ในแต่ละปีมีลิงซ์จำนวนไม่น้อยถูกวางกับดัก จนจำนวนลิงซ์ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในระหว่างปี 2523-2527 ซึ่งมีบันทึกว่ามีการส่งออกหนังลิงซ์แคนาดาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดารวมกันปีละประมาณ 35,700 ผืน แต่หลังจากช่วงดังกล่าวจำนวนหนังลิงซ์ที่ส่งออกก็ลดลงมากจากการควบคุมโดยกฎหมาย ปัจจุบันจำนวนประชากรโดยรวมของลิงซ์แคนาดายังถือว่าคงที่ มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่นในนิวบรันสวิก มิชิแกน โนวาสโกเชีย พรินซ์เอ็ดเวิร์ดไอแลนด์ ไอยูซีเอ็นประเมินว่ามีความเสี่ยงน้อย (2559) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 2

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 11 ต.ค. 66 แก้ไขครั้งล่าสุด : 25 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai