ลิงซ์สเปน, ลิงซ์ไอบีเรีย

Spanish Lynx, Iberian lynx, Pardel lynx

Lynx pardinus

ลักษณะทั่วไป




ลิงซ์สเปนหรืออีกชื่อหนึ่งคือลิงซ์ไอบีเรีย มีรูปร่างคล้ายลิงซ์ยุโรปย่อส่วน มีขนาดราวครึ่งหนึ่งของลิงซ์ยุโรป ตามลำตัวมีลายจุดเหมือนลิงซ์ยุโรป บางคนจัดให้ลิงซ์สเปนเป็นเพียงชนิดย่อยของลิงซ์ยุโรป ลิงซ์สเปนมีน้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 12.8 กิโลกรัม ตัวเมีย 9.3 กิโลกรัม ซึ่งหนักใกล้เคียงกับลิงซ์แคนาดาและบอบแคตในทวีปอเมริกา

ชื่อเรียกลิงซ์สเปนในภาษาต่าง 
อังกฤษSpanish Lynx, Iberian lynx, Pardel lynx
ฝรั่งเศสlynx d’Espagne
เยอรมันPardelluchs
สเปนlince iberico
โปรตุเกสlobo cerval


ต้นกำเนิด

ลิงซ์สเปนและลิงซ์ยุโรปเคยอาศัยอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกันในยุโรปตอนกลางในยุคไพลโตซีน คาดว่าลิงซ์สองชนิดเริ่มแยกออกจากกันก่อนที่ลิงซ์ยุโรปกับลิงซ์แคนาดาจะแยกออกจากกันเป็นเวลานาน สันนิษฐานว่าลิงซ์ยุโรปและลิงซ์ไอบีเรียวิวัฒน์มาจากบรรพบุรษลิงซ์ที่ชื่อว่า Lynx issiodorensis แม้เขตกระจายพันธุ์ของลิงซ์สเปนกับลิงซ์ยุโรปในอดีตไม่ซ้อนทับกันมากนัก และในปัจจุบันก็ยังห่างกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่แมวสองชนิดนี้ใช้ร่วมกันอยู่ที่เทือกเขาพิเรนีสระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน


ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของลิงซ์สเปน 


ลิงซ์สเปนพบในป่าไม้ของแถบเมดิเตอเรเนียน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่มีไม้พุ่มหรือป่าละเมาะที่แน่นทึบสำหรับเป็นที่กำบังสลับกับพื้นที่เปิดสำหรับล่ากระต่าย ไม่ชอบพื้นที่เกษตรกรรม จากการติดตามด้วยวิทยุ พบว่าลิงซ์สเปนใช้เวลา 90 เปอร์เซ็นต์ตอนกลางวันในการหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ทึบ

ลิงซ์สเปนมักพบที่ระดับความสูง 400-900 เมตร แต่อาจพบได้สูงถึง 1,600 เมตร

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลิงซ์สเปนได้กลายเป็นสัตว์หายากมากในสเปนตอนเหนือ แม้จะยังยังพบได้มากในตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ พอมาถึงทศวรรษที่ 1960 พื้นที่หากินถูกจำกัดอยู่เพียงทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรเท่านั้น พื้นที่นี้มีอาณาเขตประมาณ 57,000 ตารางกิโลเมตรและอาจยังต่อเนื่องกันอยู่ แต่ปัจจุบันพื้นที่หากินของลิงซ์ในสเปนเหลือเพียง 14,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ผสมพันธุ์ประมาณ 11,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกินพื้นที่เพียง เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น สำหรับเขตกระจายพันธุ์ของลิงซ์สเปนที่อยู่ในโปรตุเกสยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่ก็ลดลงไปมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ปัจจุบันคาดว่าเหลืออยู่เพียงสามแห่งซึ่งมีพื้นที่รวมเพียง 700 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเซอร์ราดามัลคาตา และเทือกเขาอัลการ์ฟทางตอนใต้สุดของประเทศ 

จากการศึกษาลิงซ์สเปนในอุทยานแห่งชาติโกโตโดยานาด้วยวิทยุติดตามที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 พบว่า ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่คุณภาพดี จะมีความหนาแน่นประชากรลิงซ์ (รวมลิงซ์วัยรุ่น) ประมาณ 16 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของลิงซ์ตัวผู้กว้างเฉลี่ยประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในแต่ละเดือนประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของลิงซ์สเปนตัวเมียประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ต่อเดือนประมาณ ตารางกิโลเมตร ลิงซ์เพศเดียวกันจะมีหากินแยกจากกัน ส่วนตัวผู้และตัวเมียจะมีพื้นที่ซ้อนเหลื่อมกัน

อุปนิสัย

อาหารของลิงซ์สเปนในฤดูร้อนเป็นกระต่ายเสีย 93 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ในฤดูหนาว สัดส่วนของกระต่ายในอาหารลดน้อยลงไปพร้อมกับจำนวนประชากรในธรรมชาติในรอบปีก็ลดลงด้วย ในช่วงเวลานี้ลิงซ์สเปนจะจับลูกกวางแดง กวางฟาลโลว์ และลูกมูฟฟลอนไปแทน ส่วนในพื้นที่ชุ่มน้ำโกโตโดยานาที่อยู่ทางชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน เป็ดได้เป็นอาหารหลักสำคัญในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ ลิงซ์สเปนหนึ่งตัวต้องการเหยื่อขนาดกระต่ายหนึ่งตัวต่อวัน

จากการติดตามด้วยวิทยุที่อุทยานแห่งชาติโกโตโดยานาแสดงว่า ลิงซ์สเปนหากินตอนกลางคืนเป็นหลัก เริ่มออกหากินในโพล้เพล้ เดินทางวันหนึ่งเฉลี่ยราวเจ็ดกิโลเมตร ตัวผู้มักเดินทางไกลกว่าตัวเมีย และในฤดูหนาวจะหันหากินตอนกลางวันมากขึ้น

ชีววิทยา

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม สูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แม่ลิงซ์ตั้งท้องนานประมาณสองเดือน ออกลูกในเดือนมีนาคม-เมษายน ออกลูกคราวละ 2-3 ตัว จำนวนอาจต่างกันมากตั้งแต่ 1-5 ตัว

เมื่ออายุได้ราว 7-10 เดือน ลูกลิงซ์ก็เป็นอิสระจากแม่ หลังจากที่เป็นอิสระแล้วจะยังคงหากินอยู่ในอาณาเขตบ้านเกิดเป็นระยะหนึ่งก่อนจนกระทั่งอายุราว 20 เดือน (8-28 เดือน) จึงออกไปหาที่อยู่ใหม่

ลิงซ์สาวจะพร้อมผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ฤดูหนาวแรก แต่เวลาที่ตั้งท้องได้ครั้งแรกขึ้นอยู่กับปัจจัยทางประชากรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่นในอุทยานแห่งชาติโกโตโดยานาตัวเมียจะตั้งท้องครั้งแรกได้เมื่อได้ครอบครองพื้นที่หากินได้แล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของพื้นที่เดิมตายลงหรือถูกขับไล่ออกไป มีบันทึกว่าตัวเมียตัวหนึ่งกว่าจะตั้งท้องครั้งแรกต้องรอถึงอายุ ปี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากได้ครอบครองพื้นที่แทนแม่ที่ตายไป

ลิงซ์ตั้งท้องครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 10 ปี ในธรรมชาติ ลิงซ์มีอายุขัยราว 13 ปี 

ภัยที่คุกคาม

การลดจำนวนของลิงซ์สเปนในช่วงทศวรรษ 1960 มีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และกระต่ายยุโรปซึ่งเป็นสัตว์เหยื่อหลักลดจำนวนลง โรคพอกซ์ไวรัสและมิกโซมาโตซีสที่นำมาจากอเมริกาใต้ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อกระต่ายยุโรปเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ 

ในช่วงแรกที่มีการระบาด กระต่ายถึงกับเกือบหายไปจากหลายพื้นที่ หลังจากนั้นกระต่ายยุโรปจึงค่อยปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันโรคมิกโซมาโตซีสขึ้นมา ทำให้โรคนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป แต่ภัยต่อกระต่ายยังไม่หมดสิ้น เพราะมีโรคใหม่เข้ามาในสเปนในปี พ.ศ. 2531 นั่นคือ ไวรัลแฮมมอร์ราจิกนิวโมเนีย ทำให้กระต่ายล้มตายไปเป็นจำนวนมาก พร้อมกับสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งในสเปนและโปรตุเกสมีการเปลี่ยนสภาพจากทุ่งหญ้าสลับป่าละเมาะซึ่งเหมาะสำหรับกระต่ายไปเป็นทุ่งธัญพืชและป่าปลูกแทน 

นอกจากภัยคุกคามด้านอาหารและพื้นที่ทำกินแล้ว ลิงซ์ก็ยังถูกล่าเพื่อเอาหนังด้วย และบางครั้งเมื่อลิงซ์ไปล่าสัตว์ของชาวบ้านก็ต้องถูกชาวบ้านฆ่ากลับด้วย

แม้สัตว์ชนิดนี้จะได้รับการคุ้มครองในเขตอนุรักษ์ตามกฎหมายแต่ยังมีการอนุญาตให้ล่านอกเขตอนุรักษ์อยู่

สัดส่วนเทียบเป็นร้อยละของสาเหตุการตายของลิงซ์สเปน[br](Rodrํguez and Delibes 1990)
ระยะเวลาถูกยิงกับดัก/แร้วหมาถูกรถชนอื่นๆจำนวน
195821.267.03.5--8.2170
1958-197726.062.72.60.18.6689
1978-198826.144.46.77.015.7356
รวม25.458.04.02.110.61,215


กับดักที่นายพรานทำไว้ดักกระต่ายก็นำความตายมาสู่ลิงซ์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกำดักประเภทแร้วและกับดักชนิดเหยียบ แม้ปัจจุบันจะมีการใช้กับดักเหล่านี้น้อยลงก็ตาม ส่วนสาเหตุการตายอื่น ๆ เช่นบนท้องถนนมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับการตายจากสาเหตุอื่น

การที่จำนวนประชากรเหลือน้อยซ้ำยังพื้นที่ถูกซอยแยกจากกัน อาจทำให้ลิงซ์ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม เค้าลางของปัญหานี้เริ่มปรากฏขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เมื่อมีการสำรวจประชากรในโกโตโดยานาซึ่งมีลิงซ์อยู่ราว 40-50 ตัวแต่ถูกตัดขาดออกจากกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 พบว่าลิงซ์ที่นี่มีรูปแบบของลวดลายขนสามแบบ แต่ไม่พบแบบที่เป็นลายจุดละเอียดซึ่งเป็นแบบที่หายากกว่า

สถานภาพ

จำนวนประชากรในธรรมชาติรวมวัยรุ่น ไม่รวมลูกแมว คาดว่าไม่เกิน 1,200 ตัว เป็นตัวเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 350 ตัว จากการสำรวจอย่างละเอียดในสเปน พบว่าพื้นที่หากินแยกออกเป็นผืนเล็กผืนน้อยมากมายถึง 48 แห่ง และยังมีอีก 50 แห่งที่อาจมีอยู่แต่ไม่มีการยืนยัน พื้นที่แต่ละแห่งถูกตัดออกจากกันด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและหมู่บ้าน 

เทียบกับแมวในสกุลลิงซ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกแล้ว สถานภาพของลิงซ์สเปนอยู่ในระดับร้ายแรงที่สุด ปัจจุบันลิงซ์สเปนหายากมากในคาบสมุทรไอบีเรียพบได้เฉพาะที่ป่าสงวนโกโตโดยานาทางตอนใต้ของสเปนและพื้นที่โดดเดี่ยวบางแห่งในโปรตุเกสเท่านั้น พื้นที่ตอนกลางของประเทศสเปนซึ่งประกอบด้วยเขตหากินสามเขตเป็นพื้นที่เดียวเท่านั้นที่มีศักยภาพในการรักษาเผ่าพันธุ์ลิงซ์ชนิดนี้ได้ ประชากรปัจจุบันคือประมาณ 800 ตัว ส่วนในพื้นที่อื่นคาดว่ามีอยู่ตั้งแต่ 13-63 ตัว จำนวนที่หลงเหลือเพียงน้อยนิดแสดงถึงการถูกคุกคามอย่างร้ายแรง ในจำนวนป่าที่มีพื้นที่น้อยกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตรที่เคยมีลิงซ์อาศัยอยู่ก่อนปี 2503 มีถึง 91 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพื้นที่ที่ไม่มีลิงซ์อีกแล้ว 

ชื่อลิงซ์สเปนอยู่ในบัญชีหมายเลข ของไซเตส ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้ในระดับวิกฤต ลิงซ์ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลสเปนและโปรตุเกส



Lynx pardinus
ชื่อไทยลิงซ์สเปน, ลิงซ์ไอบีเรีย
ชื่อวิทยาศาสตร์Lynx pardinus
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลLynx

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/spanlynx.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/lynxib01.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 17 ต.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 17 ต.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai