อีเห็นข้างลาย, อีเห็นธรรมดา

Common Palm Civet, Mentawai Palm Civet, Asian palm civet

Paradoxurus hermaphroditus

อีเห็นข้างลาย 


อีเห็นข้างลายเป็นอีเห็นขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 2-5 กิโลกรัม ความยาวหัว-ลำตัว 43-70 เซนติเมตร สีพื้นสีเทาหรือสีเนื้ออ่อน บริเวณใบหน้า รอบจมูก ใบหู ขา และหาง มีสีดำ หน้าผากสีขาว มีสันสีดำแคบ ๆ พาดตามแนวสันจมูก มีเส้นสีดำไม่เด่นชัดนักห้าเส้นพาดตามแนวลำตัวขนานกับแนวกระดูกสันหลัง หางยาวใกล้เคียงความยาวลำตัว อีเห็นข้างลายตัวเมียมีหัวนม คู่

อีเห็นชนิดนี้มีต่อมกลิ่นที่ปล่อยกลิ่นฉุนออกมาเมื่อตกใจกลัว สารที่ปล่อยกลิ่นนี้ต่างจากน้ำมันที่ได้จากชะมดเช็ด 

อีเห็นข้างลายมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมาก พบได้ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา ตลอดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงฟิลิปินส์ จากตอนใต้ของจีนลงมาถึงบอร์เนียว หมู่เกาะซุนดา สุลาเวซี หมู่เกาะอาลู อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นเขตร้อน และป่าผลัดใบ พื้นที่กสิกรรมชายป่า พบได้ที่ระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 2,400 เมตร ตัวผู้มีอาณาเขตประมาณ 17 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียพื้นที่เล็กกว่ามากเพียง 1.6 ตารางกิโลเมตร 

ในบางพื้นที่ เช่นบางแห่งในประเทศลาว อีเห็นข้างลายอาศัยใกล้ชุมชนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมมนุษย์ได้ดี ตอนกลางวันมันอาจนอนหลับในฉาง ท่อน้ำ หรือใต้หลังคา พอพลบค่ำก็ออกไปจับหนู หรือหากินผลไม้ตามสวนของชาวบ้าน เช่น มะม่วง กาแฟ สับปะรด กล้วย 

ในญี่ปุ่นก็พบอีเห็นข้างลายได้เช่นกัน แต่ประชากรในญี่ปุ่นนี้เกิดจากการนำเข้าไปเลี้ยงในช่วงปลายทศวรรษ 1800 และสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน

ปกติอีเห็นข้างลายหากินโดยลำพัง ออกหากินตั้งแต่ฟ้ามืดและกลับสู่ที่พักก่อนรุ่งสาง กินผลไม้เป็นอาหารหลัก เช่น เบอร์รี ผลปาล์ม ลูกไทร และผลไม้ที่ฉ่ำน้ำอื่น ๆ มันจะคัดเลือกผลไม้อย่างพิถีพิถัน ผลใดที่ยังสุกไม่ได้ที่ก็จะยังไม่กินแต่จะปล่อยไว้กินในวันหลัง นอกจากผลไม้แล้วก็ยังอาจกินไข่และสัตว์ขนาดเล็กด้วย 

ชีวิตของอีเห็นข้างลายผูกพันกับต้นไม้มากกว่าชะมดแผงหางปล้อง แต่ก็ยังน้อยกว่าอีเห็นหูด่าง เมื่ออยู่ในอาณาเขต อีเห็นข้างลายจะพักผ่อนบนต้นไม้ต้นเดิมซ้ำ ๆ อยู่หลายวันก่อนจะเปลี่ยนต้น ต้นไม้ที่เลือกพักมักเป็นต้นที่มีโพรงและไม้เลื้อยพัน 

อีเห็นข้างลายผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่มักพบลูกอีเห็นในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม แม่อีเห็นออกลูกคราวละ 2-4 ตัว ในแหล่งเพาะเลี้ยง อีเห็นข้างลายมีอายุ 14 ปี

ในระบบนิเวศ อีเห็นมีบทบาทเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชที่สำคัญ แต่สำหรับเกษตรกร มักมองว่าอีเห็นข้างลายเป็นศัตรูเนื่องจากเข้ากัดกินพืชผล บ่อยครั้งจึงต้องถูกกำจัด ในบางพื้นที่อีเห็นก็ถูกมนุษย์ล่าเพื่อเป็นอาหาร เช่นในอินเดียและจีน 

ในประเทศอินโดนีเซีย อีเห็นข้างลายถูกใช้เป็นสัตว์งานสำคัญในอุตสาหกรรมกาแฟชื่อหนึ่ง โดยมีหน้าที่คัดเลือกเมล็ดที่เหมาะสมแล้วกินเข้าไป เมล็ดกาแฟที่ถูกกลืนเข้าท้องจะผ่านทางเดินอาหารแล้วขับถ่ายออกมาทั้งเมล็ด คนงานจะเก็บมูลไปเข้ากระบวนการผลิตต่อไป กาแฟชนิดนี้มีกลิ่นและรสชาติเป็นเลิศ หายากและมีราคาสูงมาก

สถานภาพประชากรยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวได้ว่าอีเห็นข้างลายยังมีจำนวนประชากรอยู่มากตลอดเขตกระจายพันธุ์ อย่างน้อยก็เป็นอีเห็นที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดชนิดหนึ่ง ยกเว้นเพียงในจีนตอนใต้ซึ่งถูกล่าอย่างหนัก

ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ว่า ไม่ถูกคุกคาม (2554)

Paradoxurus hermaphroditus
ชื่อไทยอีเห็นข้างลาย, อีเห็นธรรมดา
ชื่อวิทยาศาสตร์Paradoxurus hermaphroditus
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Viverridae
วงศ์ย่อยParadoxurinae
สกุลParadoxurus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ก.ย. 64

Powered by Wimut Wasalai