สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม

Schomburgk's Deer

Rucervus schomburgki

เนื้อสมัน (Rucervus schomburgki(ภาพโดย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย)


สมันเป็นกวางขนาดกลาง มีเขาสวยงามมากจนได้ชื่อว่าเป็นกวางที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก น้ำหนัก 100-120 กิโลกรัมมีความยาวลำตัว 180 เซนติเมตร ความสูงหัวไหล่ 104 เซนติเมตร หางยาว 10 เซนติเมตร  ขนหยาบสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างลำตัวและบริเวณแก้มจางกว่า บริเวณจมูกสีเข้มหรือสีดำ สีบริเวณขาและหน้าผากค่อนข้างอมแดง ใต้หางสีขาว ขนแผงคอยาวประมาณ เซนติเมตร 

เขาสมันตีวงกว้าง โค้ง และแตกกิ่งมาก ดูเหมือนสุ่มหงาย จึงมีชื่ออีกชื่อว่า "กวางเขาสุ่ม"  กิ่งรับหมา (brow tine) ยาวและชี้มาด้านหน้าเป็นมุม 60 องศากับใบหน้า กิ่งอื่นยาวกิ่งละประมาณ 30 เซนติเมตร  ลำเขา (beam) ตั้งฉากกับกิ่งรับหมา ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร การแตกกิ่งมักจะแตกออกเป็นสองกิ่งเสมอ โดยเฉลี่ยเขาแต่ละข้างมีจำนวนกิ่งทั้งสิ้น 8-9 กิ่ง ความยาวเฉลี่ยของเขา 65 เซนติเมตร เคยมีบันทึกว่ามีสมันที่เขาแตกกิ่งมากถึง 33 กิ่ง 

สมันตัวเมียไม่มีเขา และลักษณะคล้ายละมั่งมาก ชาวบ้านบางท้องที่จึงมีความเชื่อว่าสมันมีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น และเมื่อสมันตัวผู้ผสมพันธุ์กับละมั่งจะให้ลูกเป็นสมันหรือละมั่งก็ได้

สมันอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ประกอบด้วยตัวผู้เต็มวัยหนึ่งตัว ที่เหลือคือเหล่าตัวเมียและลูกกวาง ตอนกลางวันสมันมักหลับพักผ่อนอยู่ในร่มไม้หรือดงหญ้าสูง ออกหากินเวลาเย็นจนถึงรุ่งเช้า อาหารหลักคือหญ้า ชอบอยู่ในป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้าน้ำแฉะ ไม่ชอบป่าทึบ เมื่อฤดูน้ำหลาก สมันจึงต้องหนีไปอยู่บนเนินที่น้ำท่วมไม่ถึงซึ่งกลายเป็นเกาะกลางทุ่ง ในช่วงนี้จึงตกเป็นเป้าของพรานได้ง่าย 

สมันเป็นสัตว์สัญชาติไทยโดยแท้จริง เพราะพบได้ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น กระจายพันธุ์อยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมุทรปราการขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตะวันออกสุดถึงจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา ทางตะวันตกพบถึงสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี 

จากการล่าและการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์เพื่อเปลี่ยนทุ่งหญ้าธรรมชาติมาเป็นไร่นา ทำให้ประชากรสมันลดจำนวนลงจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในปี พ.ศ.2475 มีบันทึกว่าสมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวผู้ที่มีเขาสวยงาม ถูกยิงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ  หลังจากนั้นจึงเหลือเพียงสมันในกรงเลี้ยงเท่านั้น แต่น่าเศร้าที่การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำไม่สำเร็จ จึงไม่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นได้อีก ในปี 2481 พระยาวินิจวนันดร รับราชการในกรมป่าไม้ได้ทราบข่าวว่าที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ได้เลี้ยงสมันเพศผู้อยู่ตัวหนึ่ง จึงพยายามติดต่อขอซื้อเพื่อนำมาเพาะเลี้ยง แต่เมื่อไปถึงก็สายเกินไป เพราะก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน มีชายมอญขี้เมาคนหนึ่งมาตีสมันตัวนั้นตายไปเพียงเพราะมายืนขวางทาง หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นสมันอีกเลย สมันผู้โชคร้ายตัวนั้นจึงน่าจะเป็นสมันตัวสุดท้ายในโลก แม้จะมีข่าวลือว่าพบสมันอีกในที่ต่าง ๆ แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ ซากที่สมบูรณ์ของสมันมีเพียงซากเดียวเท่านั้น เก็บอยู่ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นซากของสมันตัวที่อาศัยอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ (Jardin des Plantes) ในปี 2410

ก่อนหน้าที่สมันจะสูญพันธุ์ มีความพยายามจากจากชาวต่างชาติในการจับมาเพาะเลี้ยง แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ให้ความร่วมมือและไม่ให้ความสำคัญ บ้างก็พาไปยังป่าที่ไม่มีเนื้อสมันเพราะไม่เข้าใจว่าเนื้อสมันต่างจากกวางป่าอย่างไร 

ปัจจุบันสมันยังมีชื่อเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เนื่องจากการคุ้มครองมีผลไปถึงซากด้วย

สมันมีสัตว์ร่วมสกุลอีกสองชนิดคือ ละอง,ละมั่ง (Rucervus eldiiและ กวางบึง (Rucervus duvaucelii)

ทราบหรือไม่?

ในโลกมีกวาง 43 ชนิด สมันเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
คำว่า "เนื้อ" ในชื่อเนื้อสมัน หมายถึงกวางขนาดเล็ก ในเมืองไทยมีกวางจำพวกเนื้อสองชนิดคือ เนื้อสมัน และเนื้อทราย
Rucervus schomburgki
ชื่อไทยสมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์Rucervus schomburgki
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Cervidae
วงศ์ย่อยCervinae
สกุลRucervus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 16 ธ.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai