ลิงแสม

long-tailed macaque

Macaca fascicularis

ลิงแสม (Macaca fascicularis


ลิงแสม มีสีตั้งแต่สีครีม สีเทา หรือน้ำตาล บริเวณหน้าท้องและท้องแขนท้องขาสีจางกว่า บริเวณใบหน้าสีอมชมพู ขนบริเวณหัวชี้ไปทางด้านบนจนเป็นหัวทุย หางยาวราว 40-65.5 เซนติเมตร ซึ่งอาจยาวกว่าความยาวหัว-ลำตัว นับเป็นลิงที่หางยาวที่สุดในประเทศไทย ลูกอ่อนมีสีขนเข้มจนดำ เมื่ออายุได้สามเดือนขนชุดทารกจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปพร้อมกับขนชุดผู้ใหญ่มาแทนที่ เมื่ออายุได้หนึ่งปีก็จะมีสีเหมือนผู้ใหญ่ทั้งตัว ตัวผู้มีความยาวหัว-ลำตัว 41.2-64.8 เซนติเมตร หนัก 47-8.3 กิโลกรัม ตัวเมียยาว 38.5-50.3 เซนติเมตร หนัก 2.5-5.7 กิโลกรัม ตัวผู้มีเขี้ยวยาวแหลมกว่าตัวเมียมาก ลิงแสมมีถุงกระพุ้งแก้มที่ใช้เก็บอาหารขณะหากินได้

ลิงแสมอาศัยได้ในพื้นที่หลากหลาย ทั้งป่าดั้งเดิม ป่าชั้นสอง ป่าชายฝั่ง ป่าชายเลน บ่าปึง พบได้มากบริเวณใกล้น้ำ บางครั้งก็เข้ามาใกล้ชุมชนมนุษย์เพื่อฉกฉวยและขโมยอาหาร พบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวาง พบได้ตั้งแต่หมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะฟิลิปินส์ สุมาตรา บอร์เนียว ชวา ติมอร์ บนแผ่นดินใหญ่พบได้ตั้งแต่อินเดีย หมู่เกาะนิโคบาร์ พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม เกาะอาเงาร์ ส่วนประชากรที่พบในเกาะพาเลาเป็นประชากรที่ถูกนำเข้าไปปล่อยในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20 กล่าวกันว่าลิงแสมในเกาะนี้ทั้งหมดเกิดจากพ่อแม่พันธุ์เพียงคู่เดียวที่ถูกนำเข้าไป ลิงแสมในเกาะทินจิลก็เป็นประชากรที่นำเข้าไปปล่อยเช่นกัน

พื้นที่ในเกาะอื่นที่มีการนำไปปล่อยและขยายพันธุ์เช่น เกาะมอริเชียสในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งนักสำรวจชาวโปรตุเกสนำไปปล่อยไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จากนั้นประชากรลิงแสมในเกาะนี้ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 35,000 ตัวจนต้องมีการกำจัดเพื่อควบคุมประชากรและถูกจับส่งให้แก่ห้องทดลองทางการแพทย์ต่าง ๆ 



ลิงแสมอาศัยอยู่เป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจมีสมาชิกมากราว 30 ตัว ใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนต้นไม้ กระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ที่อยู่ห่างกัน เมตรได้โดยใช้หางที่ยาวเป็นพิเศษช่วยในการทรงตัว หากินเวลากลางวัน โดยจะเริ่มหากินตั้งแต่เช้าตรู่ อาหารหลักเป็นผลไม้ต่าง ๆ  ในช่วงผลไม้ขาดแคลนก็อาจกินอาหารอย่างอื่นบ้าง เช่น แมลง ใบไม้ เมล็ดพืช หญ้า เห็ด ไข่นก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่าง ๆ ลิงแสมที่อาศัยในป่าชายเลนก็จะจับสัตว์น้ำกินเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปู กุ้ง ปลาหมึก ระหว่างหากินก็มักมีเรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างฝูงลิงด้วยกันจากเหตุแย่งชิงอาหาร ช่วงใกล้เที่ยงจะหยุดพักผ่อน ลิงผู้ใหญ่อาจงีบหลับกลางวันระหว่างนี้ หลังพักกลางวันจึงออกหากินอีกครั้งไม่ไกลจากต้นไม้ที่ใช้เป็นที่หลับนอน เมื่อฟ้ามืดก็เข้านอน เวลานอน ลิงแสมหลับบนต้นไม้ โดยมีต้นนอนประจำกลุ่ม จะนอนเบียดกันเพื่อรักษาความอบอุ่น ชอบเลือกนอนปลายกิ่งที่อยู่ใกล้ยอดและอยู่คร่อมแม่น้ำ บางทีการเลือกกิ่งเช่นนี้อาจเป็นเรื่องความปลอดภัย เพราะหากมีอันตรายมาใกล้ตัว ก็กระโจนลงแม่น้ำแล้วว่ายน้ำหนีได้ง่าย ศัตรูตามธรรมชาติของลิงแสมเช่น งูเหลือม งูหลาม เหี้ย นกล่าเหยื่อ เสือ ลิงแสมใช้พื้นที่หากินราว 1.25 ตารางกิโลเมตร แต่ละวันเดินทางหากินราว 150-1,900 เมตร 
 
ลิงบางพื้นที่อาศัยอยู่ใกล้ชุมชนมนุษย์ ก็ใช้ประโยชน์จากพืชผลของมนุษย์ เช่นผลไม้ในสวน รวมถึงวิ่งราวหรือขอของกินจากชาวบ้าน การที่เป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์ก็อาจนำโรคติดต่อมาสู่คนได้เหมือนกัน 

ฝูงหนึ่งมีลิงตัวเมียมากกว่าลิงตัวผู้ ภายในฝูงจับคู่ผสมพันธุ์กันได้ตามใจชอบ แต่ลิงที่มีลำดับชั้นทางสังคมสูงกว่าก็จะมีสิทธิ์เลือกคู่ผสมพันธุ์ได้มากกว่า ลิงตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ ปี ส่วนตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ ปี ช่วงที่ตัวเมียไข่ตก บริเวณรอบก้นและอวัยวะเพศจะบวมแดงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วงเวลาเป็นสัดนานราว 162 วัน ตัวเมียที่มีตำแหน่งสูงในฝูงอาจให้กำเนิดลูกได้ทุกปี ส่วนตัวที่มีตำแหน่งต่ำอาจให้กำเนิดลูกได้ปีเว้นปี ส่วนใหญ่ออกลูกใ่นช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แม่ลิงจะเลี้ยงดูลูกจนกระทั่งอายุได้ 13 เดือน ลิงตัวเมียจะอยู่ในฝูงเดิมตลอด ส่วนลิงตัวผู้เมื่อเริ่มแตกเนื้อหนุ่มก็อาจแยกฝูงออกไปหาฝูงใหม่อยู่ ซึ่งอาจจะต้องต่อสู้กับจ่าฝูงเดิมเพื่อชิงตำแหน่ง วิถีชีวิตของลูกผู้ชายลิงแสมจึงเป็นวิถีนักสู้อย่างแท้จริง ต้องผ่านการต่อสู้และการบาดเจ็บอยู่เสมอ ในแหล่งเพาะเลี้ยง ลิงแสมมีอายุได้มากที่สุดถึง 38 ปี

ลิงแสมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากประเทศต่าง ๆ ในบางพื้นที่เช่นในบาหลี ลิงแสมถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ แม้จะมีปัญหาถูกล่าบ้างแต่ก็ยังเป็นสัตว์ที่มีจำนวนประชากรอยู่มาก ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้่ว่า ไม่ถูกคุกคาม ไซเตสใส่ชื่อของลิงแสมไว้ในบัญชีหมายเลข ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
Macaca fascicularis
ชื่อไทยลิงแสม
ชื่อวิทยาศาสตร์Macaca fascicularis
ชั้นMammalia
อันดับPrimates
วงศ์Cercopithecidae
วงศ์ย่อยCercopithecinae
สกุลMacaca

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 23 พ.ย. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 12 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai