ลิงกัง, กะบุด

Pigtail macaque

Macaca nemestrina

ลิงกังมีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเทา บริเวณท้องสีขาว ขนบริเวณกระหม่อมสีดำหรือน้ำตาลเข้มและแผ่ออกเหมือนไว้ผมทรงลานบิน  หางสั้นประมาณ 13-24 เซนติเมตรและมีขนสั้น ขายาว ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียราวสองเท่า ความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 49-56 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 6.2-14.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 46-56 หนักประมาณ 4.7-10.9 กิโลกรัม ตัวผู้จะมีเขี้ยวแหลมยาวประมาณ 12 มม. ส่วนตัวเมียก็มีเขี้ยวแต่สั้นกว่ามากเพียง 7.3 มม. 

ลิงกัง (Macaca nemestrina


ลิงกังเหนือ ลิงกังใต้

เดิมลิงกังมีสามชนิดย่อย ได้แก่ ลิงกังเหนือ (M.n. leoninaลิงกังใต้ (M.n. nemestrinaและลิงกังปาไก (M.n. pagensisลิงกังเหนือมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน ทางใต้สุดจรดแอ่งสุราษฎร์ธานี-กระบี่ ลิงกังใต้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่แอ่งสุราษฎร์ธานี-กระบี่ลงไป รวมถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ส่วนลิงกังปาไกพบได้เฉพาะในหมู่เกาะปาไกของอินโดนีเซียเท่านั้น 

ในปี 2558 มีการพิจารณาแยกลิงกังทั้งสามชนิดย่อยเป็นลิงต่างชนิดกัน เป็น ลิงกังเหนือได้ชื่อวิทยาศาตร์ว่า Macaca leonina  ลิงกังใต้ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca nemestrina และลิงปาไกได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca pagensis ข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่นชีววิทยา พฤติกรรมของลิงกังเหนือกับลิงกังใต้เหมือนกัน บทความนี้จึงเสนอข้อมูลรวมกันของทั้งลิงกังเหนือและลิงกังใต้ 

เป็นที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่พบลิงกังได้ทั้งลิงกังเหนือและลิงกังใต้ในธรรมชาติ

ลิงกังอาศัยอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในหลายประเทศ ตั้งแต่ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางใต้ของจีน อินโดนีเซีย (บอร์เนียว กาลิมันตัน สุมาตรา) ตะวันออกของบังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย (แผ่นดินใหญ่) พบในพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนสูงถึง 2,000 เมตร อาศัยในป่าทึบ ส่วนใหญ่เป็นป่าฝนและป่าบึง 

ฝูงลิงกังประกอบด้วยตัวผู้หลายตัวและตัวเมียหลายตัว สมาชิกตัวเมียเป็นกลุ่มครอบครัวเดียวกัน ฝูงหนึ่งมีสมาชิกประมาณ 15-40 ตัว เป็นตัวผู้ราว 5-6 ตัว แต่ละตัวเป็นตัวผู้ที่แยกออกมาจากฝูงที่ตัวเองเกิด เมื่อมีตัวผู้ตัวใหม่เข้ามาสู่ฝูง จะมีลำดับชั้นต่ำสุด หลังจากนั้นจึงค่อยต่อสู้เพื่อเลื่อนอันดับตัวเองให้สูงขึ้น ส่วนตัวเมียก็มีลำดับชั้นเช่นกัน ตัวเมียที่อันดับสูงสุดมักมีหลายตัวและเป็นพี่น้องกันที่รักใคร่ปรองดองกัน แม้กลุ่มตัวเมียจะมีอำนาจด้อยกว่าตัวผู้ แต่ก็รวมตัวกันเหนียวแน่นกว่าและอาจร่วมกันต่อสู้กับตัวผู้ที่อันดับต่ำในการแย่งชิงอาหารได้

เมื่อการต่อสู้กันระหว่างสมาชิกผ่านพ้นไป การแสดงความยอมรับหลังสงบศึกมีหลายรูปแบบ ตัวเมียด้วยกันอาจขึ้นคร่อมกันเอง โดยตัวที่มีอันดับสูงกว่าขึ้นคร่อมตัวที่ด้อยกว่า แต่ในหมู่ตัวผู้ ตัวที่เป็นฝ่ายขึ้นคร่อมกลับกลายเป็นตัวที่มีอันดับต่ำกว่า เป็นการแสดงความยอมรับในตัวที่ด้อยกว่าของตัวผู้อันดับสูง 

ลิงกังหากินเวลากลางวัน หากินบนพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ พื้นที่หากินกว้าง ตั้งแต่ 0.6-8.28 ตารางกิโลเมตร และมักย้ายพื้นที่หากินอยู่เสมอ เดินทางวันละประมาณ 800-3,000 เมตร พื้นที่ของแต่ละฝูงมักซ้อนเหลื่อมกัน แต่ลิงกังแต่ละฝูงก็ไม่ค่อยจะมีเรื่องวิวาทในเรื่องเขตแดนมากนัก

อาหารหลักคือผลไม้ นอกจากผลไม้ยังมีแมลง เมล็ดพืช ใบไม้ เห็ด นก ตัวอ่อนปลวก ปู เป็นต้น ขณะออกหากินจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 2-6 ตัว บ่อยครั้งที่เข้ามาเก็บกินผลไม้ในสวนของเกษตรกร เมื่อลิงกังบุกรุกถิ่นของคน จะมีการจัดตั้งทหารยามเพื่อเฝ้าระวังคนด้วย 

ลิงกังจัดเป็นลิงที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่งเสียงมากนัก นอกจากเวลาต่อสู้กันเท่านั้น นอกจากการสื่อสารด้วยเสียงแล้ว ลิงกังยังมีภาษาท่าทางและสื่อสารผ่านสีหน้าได้ด้วย 

ลิงกังผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ตัวเมียมีคาบการติดสัดประมาณ 30-35 วัน ตั้งท้องนาน 162-182 วัน ออกลูกครั้งละ ตัว ลูกลิงแรกเกิดมีสีดำ เมื่อพ้นสามเดือนสีขนจึงค่อยจางลงเป็นสีน้ำตาลอ่อน แม่ลิงจะเลี้ยงลูกเป็นเวลา 8-12 เดือน ตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 4.5 ปี ส่วนตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ ปี เมื่อตัวเมียติดสัด ต่อมแก้มก้นและอวัยวะเพศจะบวมแดงอย่างเห็นได้ชัดเจน และจะแสดงท่าทีอวดก้นแดงให้หนุ่ม ๆ ในฝูงดูอย่างโจ่งแจ้ง ลูกลิงที่พ้นวัยเด็กไปแล้ว ยังคงได้รับการดูแลจากแม่อยู่แม้จะไม่มากเท่ากับวัยเด็ก โดยเฉพาะลูกสาวที่แม่มักดูแลไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าลูกสาวจะแยกฝูงออกไป

ลิงกังเปลี่ยนคู่ได้หลายครั้งตลอดอายุขัย ในช่วงที่ตัวเมียในฝูงติดสัดเป็นจำนวนน้อย ตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าจะปกป้องตัวเมียอย่างแข็งขันไม่ให้ตัวผู้ตัวด้อยกว่าในฝูงเข้าใกล้และผสมพันธุ์ แต่ถ้ามีตัวเมียติดสัดหลายตัว ตัวผู้หัวหน้าอาจควบคุมไม่ทั่วถึง ทำให้ตัวผู้ที่อันดับด้อยกว่ามีโอกาสลอบเข้ามาผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ 

ลำดับชั้นของสมาชิกตัวเมียในฝูงมีผลต่อเพศของลูกที่จะเกิดมาด้วย ตัวเมียที่มีลำดับชั้นสูงกว่าจะมีโอกาสให้ลูกตัวเมียมากกว่า 

อันตรายอย่างหนึ่งของลูกลิงก็คือ ในช่วงที่ลูกอายุเกิน สัปดาห์ไปแล้ว ลูกลิงจะเริ่มซุกซนและอยากรู้อยากสำรวจโลกรอบด้าน ซึ่งอาจทำให้ต้องห่างจากอกแม่ หากแม่ลิงเป็นลิงที่มีลำดับชั้นต่ำ ช่วงนี้ลูกลิงอาจถูกลิงที่มีอันดับสูงกว่าแย่งไปได้ และหากแม่ลิงแย่งกลับมาไม่ได้ ลูกลิงก็มักต้องอดตาย

ในธรรมชาติ ลิงกังมีอายุขัยประมาณ 26 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยง เคยพบลิงกังที่อยู่ได้ถึงเกือบ 35 ปี

ศัตรูตามธรรมชาติของลิงกังคือเสือและงู แต่ศัตรูตัวร้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นคน ลิงกังจำนวนมากถูกล่าเพื่อเอาเป็นอาหาร ทำยาจีน และเพื่อการแพทย์ ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ว่าเสี่ยงสูญพันธุ์ ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ทราบหรือไม่?

ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เคยพบฝูงลิงกังที่มีสมาชิกถึง 89 ตัว
ลิงกังเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย จึงถูกนำมาใช้งานเป็นลิงเก็บมะพร้าว
ลิงแสมกลัวลิงกัง โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีเคยนำลิงกังไปช่วยไล่ฝูงลิงแสมที่มักมาทำร้ายนักเรียนในโรงเรียน
Macaca nemestrina
ชื่อไทยลิงกัง, กะบุด
ชื่อวิทยาศาสตร์Macaca nemestrina
ชั้นMammalia
อันดับPrimates
วงศ์Cercopithecidae
วงศ์ย่อยCercopithecinae
สกุลMacaca

ข้อมูลอ้างอิง

  • Southern Pig-tailed Macaque
  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984)
  • สมโภชน์ ศรีโกสามาตร และ ทรอย แฮนเซล. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
  • Macaca nemestrina. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/accounts/information/Macaca_nemestrina.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 15 มีนาคม 2555).
  • Northern Pig-tailed Macaque

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 15 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai