ชะมดแผงสันหางดำ

Large-spotted Civet

Viverra megaspila

ชะมดแผงสันหางดำ ดูคล้ายกับชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibethaและชะมดมลายู (Viverra tangalungaมากจนจำแนกสับสนได้ง่าย โดยทั่วไปมีสีเทา บางตัวอาจมีสีอมเหลืองหรือน้ำตาล ตามลำตัวมีลายจุดทั่วไป บางจุดเชื่อมต่อกันจนเป็นขยุ้มหรืออาจเรียงร้อยกันเป็นสายในแนวดิ่งบริเวณหลัง สันหลังมีขนสีดำตั้งเป็นแผงตลอดแนวไปถึงหางงหางมีแถบดำสลับขาวเป็นปล้อง แต่บริเวณสันด้านบนของหางจะเป็นลายดำเชื่อมติดกันตลอด ตัวเต็มวัยมีความยาวหัว-ลำตัว 76-77 เซนติเมตร หางยาว 33-39 เซนติเมตร  หนักประมาณ 6.6-8.4 กิโลกรัม

ชะมดแผงสันหางดำมีเขตกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ กัมพูชา ลาว คาบสมุทรมลายู พม่า ไทย เวียดนาม พบได้ในป่าหลายประเภท ทั้งป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ส่วนใหญ่มักอยู่ในที่ต่ำกว่า 300 เมตร หากินบนพื้นดินเป็นหลัก 

ชะมดแผงสันหางดำต้องประสบเคราะห์กรรมที่เลวร้าย เพราะถูกล่าอย่างหนัก จำนวนมากต้องเป็นเหยื่อของนายพราน เป็นสัตว์ที่ติดแร้วได้ง่าย ป่าพื้นที่ต่ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ชนิดนี้ก็ถูกบุกรุกแผ้วถางได้ง่าย การที่ป่าพื้นที่ต่ำต้องถูกแปลงสภาพเป็นพื้นที่กสิกรรม ทำให้สัตว์ชนิดนี้ไม่มีที่อยู่ ส่งผลให้จำนวนประชากรทั่วเขตกระจายพันธุ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ชะมดแผงสันหางดำในจีนและเวียดนามดูจะโชคร้ายที่สุด เพราะผู้คนในสองประเทศนี้นิยมกินชะมดมากขึ้น ไม่มีใครเห็นสัตว์ชนิดนี้ในจีนมาตั้งแต่ปี 2541 แล้ว ส่วนในประเทศไทยก็มีรายงานการพบเห็นน้อยมาก

ปัจจุบัน ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรไว้ว่า อันตราย ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
Viverra megaspila
ชื่อไทยชะมดแผงสันหางดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์Viverra megaspila
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Viverridae
วงศ์ย่อยViverrinae
สกุลViverra

ข้อมูลอ้างอิง

  • สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย, จอห์น พาร์
  • http://www.iucnredlist.org/details/41707/0
  • Large-spotted civet

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 23 ต.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 22 ธ.ค. 65

Powered by Wimut Wasalai