สิงโต

Lion

Panthera leo

ลักษณะทั่วไป

สิงโตเป็นเสือขนาดใหญ่ ขนสั้นเกรียนสีน้ำตาลอ่อน บางตัวอาจมีสีออกเทาเงิน  หรือบางตัวก็มีสีอมแดง หรือถึงน้ำตาลแดง ใบหน้ากว้าง ปากค่อนข้างยาว จมูกมักมีสีดำสนิท ม่านตาสีเหลืองหรืออำพัน รูม่านตากลม หูสั้นกลม หลังหูดำ ขาหน้าใหญ่และแข็งแรงกว่าขาหลัง อุ้งตีนกว้าง หางค่อนข้างยาว ปลายหางเป็นพู่สีดำ และมักมีสิ่งคล้ายเดือยแข็งอยู่อันหนึ่งซ่อนอยู่ภายในพู่หางด้วย 

สิงโตแอฟริกา 


สิงโตเอเชีย 


สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีความแตกต่างระหว่างเพศชัดเจนที่สุด ตัวผู้มีแผงคอซึ่งเป็นขนยาวหนาขึ้นบริเวณรอบคอและหัวไหล่อย่างหนาแน่นจนกลบใบหูมิด ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีดำ บางชนิดขนแผงคอลามไปจนถึงท้อง แผงคอของสิงโตตัวผู้แต่ละพันธุ์ต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ พวกที่อยู่ตอนบนสุดและล่างสุดของเขตกระจายพันธุ์มีแผงคอใหญ่และดกมาก อาจลามไปถึงหลังและใต้ท้อง ขนช่วยให้สิงโตมีขนาดใหญ่โตขึ้นแต่ไม่เพิ่มน้ำหนักให้มากนัก คาดว่ามีไว้เพื่อจำแนกเพศและแสดงสถานะของวัย และเพื่ออวดตัวเมียถึงความแข็งแกร่งห้าวหาญสมชาย และอาจมีประโยชน์ในการป้องกันหัวและคอในระหว่างการต่อสู้ สิงโตตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้มาก (20-50%) และไม่มีแผงคอ แผงคอของสิงโตมีลักษณะต่างกันไปในแต่ละตัวด้วย นักวิจัยในพื้นที่ก็ใช้ลักษณะของแผงคอในการจำแนกสิงโตแต่ละตัวจากระยะไกล และมีหลักฐานว่าสิงโตก็ใช้รูปร่างของแผงคอในการจำแนกสิงโตตัวผู้จากระยะไกลเช่นกัน

ในสิงโตพันธุ์เอเชีย (Panthera leo persicaแผงคอของตัวผู้มีไม่มากเท่าสิงโตแอฟริกา ผู้กับตัวเมียจึงค่อนข้างคล้ายกัน และมักยังมองเห็นหูพ้นแผงคอออกมา เอกลักษณ์อีกอย่างของสิงโตพันธุ์เอเชียก็คือ มีรอยย่นของหนังทอดยาวตลอดใต้ลำตัวซึ่งมักไม่พบในสิงโตแอฟริกา 

คำเรียกสิงโตในภาษาต่าง 
อังกฤษlion
ฝรั่งเศสlion d’Afrique
เยอรมันLöwe
สเปนleón
อัมฮารา (เอธิโอเปีย)ambessa
ชิเชวา (มลาวี)nkharam 
ดามารา (นามิเบีย)xamm 
เฮาซา (เบนิน บูร์กินาฟาร์โซ แคเมอรูน กานา ไนเจอร์ ไนจีเรีย โตโก)zaki 
เนปาลhiun chituwa 
อีโบ, โยรูบา (ไนจีเรีย)odum, aja 
จูโฮอัน (บอตสวานา, นามิเบีย)n!hai 
คิคุยู (เคนยา)ngatia, muruthi 
ลิงการา (แอฟริกาตะวันตก)ngouambulu 
โดลัว (เคนยา, อูกันดา)labwor 
มาไซ, แซมบูรู (เคนยา, แทนซาเนีย)olugatany 
โปรตุเกสleao 
เซตสวานา (บอตสวานา)tau 
คิสวาฮีลีsimba 
โซมาเลียaar, baranbarqo, libaax, gool, davar 
คุชราตsinh, sawaj 
ฮินดีsher, untia bagh
มัลดารีhawaj 
ฟาร์ซีsheer 
จีน


ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ของแอฟริกา สิงโตตัวผู้เต็มวัย (4 ปีขึ้นไป) มีน้ำหนัก181 กิโลกรัมตัวเมียหนัก 126 กิโลกรัม สิงโตวัยรุ่นตัวผู้ (2-4 ปี) หนัก 146 กิโลกรัม  ตัวเมียหนัก 103 กิโลกรัม สิงโตตัวผู้ที่ใหญ่ที่สุดหนัก 225 กิโลกรัม ตัวเมียที่ใหญ่ที่สุดหนัก 152 กิโลกรัม ในปี 2536ที่ประเทศเคนยา เคยพบสิงโตตัวผู้ตัวหนึ่งถูกยิงตายใกล้เขาเคนยา มีน้ำหนักถึง 272 กิโลกรัม ตัวผู้มีความยาวตัวถึงหาง 3.3 เมตร

สิงโตเอเชียมีขนาดเล็กกว่าสิงโตแอฟริกา ตัวผู้เต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 160-190 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียหนักประมาณ 110-120 กิโลกรัม ความยาวหัวถึงหางของตัวผู้ 2.92 เมตร

สิงโตดำและสิงโตเผือกเคยพบบ้างแต่น้อย สิงโตเผือกมักพบที่อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ นอกจากสิงโตดำและขาวแล้ว ยังเคยมีผู้พบสิงโตขาวแบบ leucism ซึ่งเป็นความผิดปรกติที่มีขนสีขาวซีดแต่ตาและผิวหนังยังมีเม็ดสีอยู่ ต่างจากขาวแบบเผือกซึ่งไม่มีเม็ดสีเลย ใกล้อุทยานแห่งชาติครูเกอร์และเขตรักษาพันธุ์เพื่อล่าอัมโฟโลซี ในประเทศแอฟริกาใต้

สิงโตในอดีต

สิงโตปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่ยุโรปเมื่อราว 600,000 ปีที่แล้ว สิงโตในยุคนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตปัจจุบัน 25 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาบนโลก มีชื่อว่า สิงโตถ้ำยุโรป (Panthera leo spelaeaสิงโตพันธุ์นี้ได้แพร่กระจายไปไกลอย่างน้อยก็ถึงกรุงปักกิ่ง เพราะพบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตอายุ 400,000 ปีบริเวณเดียวกับที่พบซากมนุษย์ปักกิ่งในโจวโข่วเตี้ยนซึ่งก็พบซากของเสือโคร่งเช่นกัน และยังพบภาพวาดของสิงโตตามถ้ำต่าง ๆ และซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุ 200,000 ปี แสดงว่าสิงโตพันธุ์นี้เคยอาศัยร่วมสมัยกับมนุษย์ยุคใหม่มาก่อน นอกจากนี้ยังเคยมีการพบกระดูกสิงโตคู่กับเครื่องมือของมนุษย์นีแอนเดอทรัลมาแล้วด้วย

ในทวีปอเมริกาก็เคยมีสิงโตเช่นกัน สิงโตอเมริกาเหนือ (Panthera atroxมีรูปร่างคล้ายสิงโตถ้ำยุโรป พบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตพันธุ์นี้ตามไซบีเรียตะวันออก แอแลสกา และที่อื่นในทวีปอเมริกาเหนือ สิงโตอเมริกาอาศัยร่วมกับมนุษย์ หมาป่าไดร์วูล์ฟ (Canis dirusม้า และไบซันมาจนถึงราวปี 11,500 ปีก่อน เชื่อกันว่าสิงโตอเมริกาเหนือน่าจะอาศัยเป็นฝูงเช่นเดียวกับสิงโตในแอฟริกาปัจจุบัน

ในยุคไพลโตซีน เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตแพร่ไปไกลเหนือสุดถึงอังกฤษ และทางตะวันออกสุดถึงปาเลสไตน์ อาหรับ และอินเดีย 

ในศรีลังกา ปัจจุบันไม่มีทั้งสิงโตและเสือโคร่ง และไม่เคยมีการพบซากดึกดำบรรพ์ของสิงโตด้วย  เคยมีการพบซากฟันของสิงโตเพียงซี่เดียวเท่านั้น แต่สิงโตได้อยู่ในวัฒนธรรมของศรีลังกาอย่างแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะในตำนาน และศิลปะ แม้แต่ชื่อเชื้อชาติของชาวสิงหลซึ่งของชนส่วนใหญ่ของประเทศก็มีความหมายว่า สายเลือดสิงโต ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าสิงโตน่าจะเคยอาศัยอยู่ในศรีลังกาช่วงใดช่วงหนึ่ง

ที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์

เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตในแอฟริกา 


สิงโตอาศัยได้ในพื้นที่หลายประเภท พื้นที่ที่ชอบที่สุดคือทุ่งหญ้า ซาวันนา ป่าเปิดและป่าละเมาะ แต่ก็ยังพบได้ในพื้นที่ประเภทอื่นตั้งแต่กึ่งทะเลทรายและป่าทึบ ไม่พบในป่าทึบและกลางทะเลทรายซาฮารา และพบได้ในระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 5,000 เมตรบนภูเขาในประเทศเคนยา

สิงโตเคยพบได้ทั่วทั้งทวีปแอฟริกา ในยุโรปทางตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง จนถึงทางตอนเหนือของอินเดีย ในปัจจุบันพื้นที่กระจายพันธุ์หดเล็กลงไปมาก เหลือเพียงในพื้นที่กึ่งซาฮาราในทวีปแอฟริกา ฐานที่มั่นสำคัญอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่งในแอฟริกาตะวันออก และส่วนในเอเชียเหลือเพียงแห่งเดียวคือป่าเกียร์ในประเทศอินเดีย คาดว่ามีอยู่ประมาณ 290-350 ตัว

อุปนิสัย

สิงโตอาศัยบนพื้นดินเป็นหลัก ปีนต้นไม้ได้ โดยเฉพาะสิงโตวัยเด็กมักชอบปีนต้นไม้เล่น เมื่อเติบโตขึ้นมาจึงปีนน้อยลง แต่สิงโตในบางพื้นที่ได้แก่สิงโตในอุทยานแห่งชาติเลกแมนยาราของแทนซาเนียกับอุทยานแห่งชาติควีนเอลิซาเบทของยูกันดา มักใช้เวลาตอนกลางวันพักผ่อนอยู่บนต้นไม้ พฤติกรรมเช่นนี้สันนิษฐานว่าเพื่อหนีแมลงรบกวนที่อาศัยอยู่ในพุ่มไม้ บางทฤษฎีก็เชื่อว่าต้องการหลีกหนีจากควายและช้าง 



สิงโตไม่ชอบน้ำเช่นเดียวกับเสือและแมวทั่วไป แต่สิงโตก็ว่ายน้ำได้เก่ง เคยมีผู้พบสิงโตว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโอคาแวนโกและแม่น้ำสายใหญ่อื่น ๆ หลายครั้ง 

สิงโตจัดว่าเป็นจอมขี้เกียจ ขี้เกียจที่สุดในจำนวนเสือและแมวทุกชนิดในโลก ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์เช่นในอุทยานแห่งชาติเซเรนเกตตี โงโรโงโรเครเตอร์ หรือไนโรบี เวลาแต่ละวันของสิงโตจะหมดไปกับการนอนถึง 20 ชั่วโมง เวลาในการเดินทางราว ชั่วโมง และกินอีกราว ชั่วโมง สิงโตเดินทางน้อยมากเพียงวันละไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น หากเป็นพื้นที่ทุรกันดารซึ่งมีสัตว์เหยื่อกระจัดกระจาย สิงโตอาจต้องเดินมากขึ้นเป็นคืนละ 12-13 กิโลเมตร 

สิงโตเป็นสัตว์ในตระกูลแมวที่มีสังคมแน่นแฟ้นที่สุด ขนาดของฝูงวัดด้วยจำนวนของตัวเมียในฝูง ฝูงสิงโตแอฟริกามักประกอบด้วยตัวเมียตั้งแต่ 4-12 ตัว ซึ่งมักเป็นพี่น้องหรือญาติกันและลูกสิงโต  สิงโตตัวเมียจะช่วยกันดูแลเลี้ยงดูสิงโตเด็ก และอาจช่วยกันให้นมโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นลูกของตนหรือไม่ ส่วนตัวผู้อาจมีอยู่ราวหนึ่งถึงหกตัว สิงโตตัวผู้ในฝูงอาจเป็นญาติกันก็ได้ 

สิงโตบางฝูงอาจประกอบด้วยสิงโตที่ไม่ใช่ญาติกัน แต่มีน้อยมาก เคยมีการพบฝูงแบบนี้เพียงสองครั้งเท่านั้น ทั้งสองกรณีเกิดจากฝูงย้ายถิ่นมาจากพื้นที่เดิม ฝูงแรกย้ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์เพื่อการล่าคาลาฮารีกลางในบอตสวานา เนื่องจากพื้นที่เดิมแห้งแล้งอดอยาก อีกฝูงหนึ่งย้ายมาจากอุทยานแห่งชาติครูเกอร์เนื่องจากมีการล่าสิงโตอย่างหนัก

ขนาดและเขตหากินของฝูงมักขึ้นอยู่กับประเภทของพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อ พื้นที่ยิ่งอุดมสมบูรณ์ฝูงก็ยิ่งใหญ่ ส่วนในพื้นที่แร้นแค้นฝูงจะเล็กลงหรืออาจหากินโดยลำพังก็ได้ ฝูงที่ใหญ่ที่สุดพบในทุ่งหญ้าแอฟริกาตะวันออกซึ่งเป็นที่ที่อาหารการกินสมบูรณ์ เช่นในโงโรโกโรเครเตอร์ซึ่งมีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ เคยมีผู้พบฝูงขนาด 20 ตัวมาแล้ว  ส่วนในอุทยานแห่งชาติคาลาฮารีเกมสบอกของแอฟริกาใต้ มีขนาดฝูงเฉลี่ยเพียง 2.2 ตัว 

ในอินเดีย ฝูงสิงโตเอเชียมีขนาดเล็กกว่า ส่วนใหญ่มีตัวเมียเพียงสองตัว ฝูงที่ใหญ่ที่สุดก็มีเพียง ตัวเท่านั้น ฝูงสิงโตเอเชียอาจมีตัวผู้จ่าฝูงได้มากกว่าหนึ่งตัวร่วมกันปกครองฝูง สิงโตเอเชียตัวผู้จะเข้ามาอยู่ในฝูงเฉพาะช่วงต้องการผสมพันธุ์หรือเมื่อมีการล่าเหยื่อขนาดใหญ่ได้เท่านั้น เหตุที่สังคมของสิงโตป่าเกียร์ไม่แน่นแฟ้นมากเท่าสิงโตในแอฟริกาอาจเป็นเพราะสัตว์เหยื่อที่นี่มีขนาดเล็กกว่าก็ได้

เช่นเดียวกับเสือชนิดอื่น ๆ สิงโตชอบปล่อยกลิ่นไว้เพื่อปรากาศอาณาเขตของตน โดยหันก้นเข้าใส่เป้าหมายซึ่งมักเป็นพุ่มไม้หรือต้นไม้แล้วเยี่ยวใส่เป็นฝอย ทั้งตัวผู้และตัวเมียทำแบบเดียวกัน แต่ตัวผู้ทำบ่อยกว่า สิงโตในฝูงเดียวกันมักปล่อยกลิ่นที่จุดเดียวกัน เมื่อตัวหนึ่งปล่อยกลิ่น ตัวอื่นก็จะมาทำแบบเดียวกันทันที 

สิงโตหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนใหญ่มักหากินช่วงพลบค่ำและรุ่งสาง และยังพบว่าการล่าในคืนเดือนมืดประสบความสำเร็จมากกว่าคืนเดือนหงาย สิงโตที่ล่าเพียงลำพังจะย่องเข้าไปหาเหยื่ออย่างเชื่องช้าทีละนิดโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมกำบัง เมื่อเข้าใกล้จนอยู่ในระยะไม่เกิน 30 เมตรแล้วจึงค่อยวิ่งออกไปตะครุบ ส่วนการออกล่าเป็นฝูงซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าจะทำโดยกระจายกำลังกันออกเป็นกลุ่มย่อยสามกลุ่ม คือปีกซ้าย ปีกขวา และกองกลาง กลุ่มละประมาณ 1-7 ตัว ฝ่ายปีกมักเป็นฝ่ายเริ่มจู่โจมก่อน คอย ไล่เหยื่อให้แตกตื่นหนีไปทางฝ่ายกลองกลางที่ซุ่มรออยู่ เมื่อเหยื่อวิ่งไปถึงจนได้ระยะและกำหนดตัวเหยื่อได้ พวกที่ซุ่มอยู่ก็จะกระโจนออกมาสังหาร ตัวที่ทำหน้าที่เป็นกองกลางมักเป็นสิงโตตัวใหญ่ บางครั้งก็มีการแลกเปลี่ยนตำแหน่งในการออกล่าบ้างเหมือนกัน ชนิดของเหยื่อมีผลต่อการแบ่งหน้าที่ของสิงโตแต่ละตัวในการล่าด้วย เช่นพบว่าสิงโตบางตัวมักรับตำแหน่งเป็นผู้นำในการล่าหมูป่า แต่ในการล่าควายกลับไปทำหน้าที่เป็นลูกทีม



จากการสังเกตการล่าในอุทยานแห่งชาติอิโตชา แซนเดอร์พบว่าการล่าเป็นฝูงให้ผลสำเร็จมากถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการล่าเพียงลำพังมีโอกาสสำเร็จเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สภาพลมฟ้าอากาศอาจเป็นสิ่งช่วยในการอำพรางสิงโตจากสายตาเหยื่อได้ สิงโตออกล่าบ่อยครั้งในช่วงพายุตั้งเค้า และประสบความสำเร็จได้มากกว่าในการล่าในช่วงลมพัดแรง

การฆ่าของสิงโตมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของเหยื่อ สัตว์เล็กอย่างลูกแอนติโลป กาเซลล์ทอมบ์สัน หรือกระต่ายป่า สิงโตจะตบแล้วตะครุบด้วยสองตีน ตามด้วยเข้ากัดที่คอด้านหน้าหรือด้านหลัง ส่วนเหยื่อขนาดม้าลายหรือวีลเดอบีสต์ สิงโตจะโถมเข้าใส่แล้วดึงหรือลากให้ล้มลง แล้วกัดที่คอหรือจมูก เหยื่อที่ถูกกัดคอจะตายเพราะเลือดไม่ไหลเวียน เหยื่อที่ถูกกัดจมูกจะตายเพราะหายใจไม่ออก 

เมื่อเหยื่อตายลงจะถูกกินทันที ต่างจากเสือโคร่งและเสือดาวที่มักจะลากเหยื่อไปเป็นระยะทางไกลก่อนจะกิน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นเหยื่อขนาดเล็กก็อาจมีการคาบไปกินในพุ่มไม้ใกล้ ๆ บ้าง อวัยวะที่จะถูกกินเป็นอันดับต้นได้แก่ เครื่องใน ต้นขา และสะโพก สิงโตบางพื้นที่มีการลากลำไส้เหยื่อออกมาฝังดินด้วย แต่พฤติกรรมเช่นนี้พบไม่บ่อยในเซเรนเกตตี

การล่าเหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นหน้าที่ของตัวเมียเท่านั้น ตัวผู้มักไม่ค่อยออกแรงล่าเหยื่อ สแตนเดอร์ (1992a) พบว่าสิงโตตัวผู้ในอุทยานแห่งชาติอีโตชาในนามิเบียมีส่วนร่วมในการล่าเพียง เปอร์เซ็นต์ของการล่าทั้งหมด (461 ครั้ง) เท่านั้น แต่เมื่อล่าเหยื่อได้แล้ว ตัวผู้ซึ่งไม่ได้ออกแรงล่าเหยื่อเลยมักเป็นตัวแรกที่ได้กินเหยื่อก่อน เมื่อตัวผู้กินเสร็จจึงเป็นคราวของตัวเมีย ส่วนลูกสิงโตจะได้กินเป็นลำดับสุดท้าย ดังนั้นในภาวะเหยื่อขาดแคลน ลูกสิงโตจึงมักอดตายก่อน

อาหารของสิงโตมักเป็นสัตว์ใหญ่ เช่นวิลเดอบีสต์ ควายป่า ม้าลาย ลูกแรด ลูกฮิปโป ลูกช้าง และลูกยีราฟ ในพื้นที่เดียวกัน สิงโตแต่ละฝูงอาจมีเหยื่อโปรดต่างชนิดกัน นั่นแสดงถึงพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างชัดเจน  บางครั้งก็กินสัตว์เล็กอย่างสัตว์ฟันแทะ นก ในอินเดีย อาหารหลักคือกวางดาว (45%) ซึ่งหนักเพียง 50 กิโลกรัม ที่นิยมรองลงมาคือกวางป่า (15%)

บางครั้งสิงโตก็ขุดดินหาเหยื่อที่อยู่ในดินเหมือนกัน สิงโตขุดดินมากกว่าเสือชนิดใด ๆ โดยเฉพาะเพื่อล่าหมูป่าที่หนีเข้าไปหลบในโพรงของอาร์ตวาร์ก 

ด้วยความที่เป็นถึงจ้าวป่า กำยำ พละกำลังมาก สิงโตจึงมักแย่งเหยื่อจากสัตว์นักล่าชนิดอื่นเช่นเสือดาวและเสือชีตาห์อยู่เสมอ 

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นจ้าวป่า แต่บ่อยครั้งก็พบว่าสิงโตกินซากเหมือนกัน โดยเฉพาะตัวผู้ ในเซเรนเกตตี อาหารราวกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของสิงโตมาจากการแทะซาก ส่วนในพื้นที่แห้งแล้งมักไม่พบสิงโตกินซากมากนัก มีเพียงราว เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

สิงโตอดน้ำได้ดี ในพื้นที่แห้งแล้ง สิงโตอาศัยน้ำจากตัวเหยื่อก็อยู่ได้ บางครั้งอาจรับน้ำจากต้นไม้ด้วย เช่นแตงซามา (tsama melon) ในทะเลทรายคาลาฮารี 

สิงโตมีพื้นที่หากินกว้าง บางครั้งกว้างถึง 500 ตารางกิโลเมตร ภายในฝูงใหญ่มักมีแยกเป็นกลุ่มย่อยกระจัดกระจายออกไปกินภายในพื้นที่ของฝูงหลัก และแต่ละตัวก็ยังมีบางช่วงที่แยกตัวออกไปอยู่เพียงลำพังด้วย ฝูงสิงโตมักมีพื้นที่หากินคงที่ เคยพบฝูงสิงโตสามฝูงในเซเรนเกตีครอบครองอาณาเขตเดิมเป็นเวลานานกว่า 20 ปี 

ส่วนสิงโตในป่าเกียร์ ตัวผู้มีพื้นที่หากิน 100-140 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียมีพื้นที่หากินราว 50 ตารางกิโลเมตร 

ในหมู่ตัวผู้ก็มีสังคมของตัวผู้เหมือนกัน ตัวผู้ที่ไม่มีฝูงครอบครองซึ่งอาจเป็นตัวที่ยังไม่ถึงวัยหรือตัวที่เป็นอดีตจ่าฝูงก็มีการรวมฝูงเพื่อหากินร่วมกัน ฝูงตัวผู้ที่มีสมาชิกมากกว่า ตัวมักเป็นลูกพี่ลูกน้องกันหรืออาจเป็นพี่น้องกัน ส่วนฝูงที่มีเพียงสองตัวมักไม่ใช่ญาติกัน เคยพบฝูงสามตัวที่มีสองตัวเป็นญาติกันกับสิงโตที่ไม่ใช่ญาติอีกตัวหนึ่ง แต่ฝูงแบบหลังนี้พบน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าความสำเร็จในการผสมพันธุ์มักแปรตามขนาดของฝูงด้วย

ชีวิตของสิงโตตัวผู้เต็มไปด้วยเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ตัวที่เป็นจ่าฝูงจะต้องต่อสู้รักษาบัลลังก์ของตัวเองอย่างเข้มแข็งเอาเป็นเอาตาย ถ้าหากแพ้ก็จะถูกขับไล่ไปจากฝูง และผู้ชนะก็ได้ครอบครองฝูงแทน    โดยเฉลี่ยแล้วจ่าฝูงแต่ละตัวครองตำแหน่งได้ราว 2-3 ปีเท่านั้น เมื่อจ่าฝูงตัวใหม่ยึดอำนาจของจ่าฝูงตัวเดิมได้แล้ว มักจะฆ่าลูกสิงโตในฝูงทิ้งทั้งหมด แม้แม่สิงโตจะปกป้องก็ตาม เพื่อขจัดเสี้ยนหนามและเลือดเนื้อของจ่าฝูงตัวเดิมให้สิ้น และเพื่อให้ตัวเมียหมดภาระในการเลี้ยงดูลูกอีกต่อไป ลูกสิงโตเกือบทั้งหมดจะถูกฆ่าภายในเดือนแรก ส่วนลูกสิงโตที่เพิ่งเกิดที่เป็นเลือดเนื้อของจ่าฝูงตัวเดิมก็มักถูกจ่าฝูงตัวใหม่ฆ่าทิ้งทันที หลังจากการเข้าครอบครองฝูงของจ่าฝูงใหม่ได้ราวสามเดือน ตัวเมียในฝูงจะเริ่มแสดงอาการยั่วยวนอย่างเด่นชัด แต่ยังคงไม่ยอมให้ผสมพันธุ์ทันที สิงโตสาวจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อเลือกตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดซึ่งมักเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดมาเป็นพ่อของลูก  

ปัจจุบันที่อยู่อาศัยของสิงโตกับเสือโคร่งแยกจากกัน จึงไม่มีโอกาสที่จ้าวป่าสองชนิดนี้จะมาพบกันหรือต่อสู่กัน แต่ในอดีตเคยมีการจับมาต่อสู้กัน ผลปรากฏว่าเสือโคร่งเป็นฝ่ายชนะเสมอ จากการสังเกตโดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสวนสัตว์บรองซ์ซึ่งมีลูกสิงโตและลูกเสือโคร่งเติบโตมาด้วยกันและประลองกำลังกันเป็นบางครั้ง พบว่าเสือโคร่งมีชั้นเชิงการต่อสู้เหนือกว่าและเป็นฝ่ายชนะทุกครั้ง 

แม้รูปร่างของสิงโตมีสัดส่วนใกล้เคียงเสือโคร่งมาก แต่แขนขาที่ล่ำสันที่เหมาะสำหรับต่อสู้อาจเป็นอุปสรรคสำหรับการทำความเร็ว สิงโตวิ่งได้เร็วที่สุดประมาณ 48-59 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระโดดข้ามรั้วที่สูงถึง 2-3 เมตรได้

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสิงโตก็คือ เสียงคำราม สิงโตคำรามได้ยินไปไกลถึง กิโลเมตรสำหรับหูคน แต่สำหรับสิงโตด้วยกันย่อมได้ยินเสียงคำรามได้จากระยะไกลกว่านั้น เสียงคำรามแต่ละตัวก็มีเสียงเฉพาะตัวด้วย สิงโตคำรามได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่เสียงคำรามของตัวผู้จะลึกกว่าและดังกว่า  สิงโตคำรามบ่อยที่สุดช่วงเช้ามืด หัวค่ำ และกลางดึก นอกพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งสิงโตมักถูกคุกคามและสัตว์กีบซึ่งเป็นเหยื่อหลักมีน้อย ฝูงสิงโตมักมีขนาดเล็กลงมาก และไม่ค่อยคำราม 

นอกจากเสียงคำรามแล้ว สิงโตยังเปล่งเสียงแบบอื่นได้อีกหลายแบบ เช่น เสียงครึ่ดแบบหมู เสียงฉู่ฉี่ เสียงกรืด ๆ ในลำคอ หรือแม้แต่เสียงเมี้ยว 

ชีววิทยา

สิงโตมีฤดูผสมพันธุ์ไม่แน่นอน ในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์และเซเรนเกตตีสิงโตมักออกลูกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ส่วนในอินเดียมักออกลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูหนาวกับต้นฤดูร้อน ตัวเมียในฝูงมักติดสัดและให้กำเนิดลูกในเวลาไล่เลี่ยกัน กลไกที่ควบคุมจังหวะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ตัวเมียติดสัดมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี ช่วงเวลาติดสัดมักยาวนานประมาณสี่วันและมีคาบการติดสัดประมาณ 16 วัน ช่วงติดสัดสิงโตจะผสมพันธุ์กันบ่อยมาก โดยเฉลี่ยทุก 25 นาที จากการสังเกตสิงโตในกรงเลี้ยงคู่หนึ่ง ผสมพันธุ์กันถึง 360 ครั้งใน วัน ในธรรมชาติมีผู้เคยพบสิงโตตัวผู้เร่ร่อนตัวหนึ่งผสมพันธุ์ 157 ครั้งใน 55 ชั่วโมง ในระหว่างที่ติดสัดนี้สิงโตจะไม่กินเลย 

หลังจากตั้งท้องนานประมาณ 100-119 วัน แม่สิงโตจะแยกออกไปจากฝูงเพื่อหาที่ลับตาออกลูก ลูกครอกหนึ่งมีราว 1-6 ตัว ส่วนใหญ่มีสี่ตัว ลูกสิงโตแรกเกิดมีน้ำหนัก 1,200 กรัม ขนปุกปุยและมีลายดอกอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะบริเวณขาทั้งสี่และท้อง เมื่ออายุได้ 14 วันตาก็เปิด เริ่มกินเนื้อได้เมื่ออายุได้ประมาณ สัปดาห์ ช่วง 4-6 สัปดาห์เป็นช่วงที่แม่สิงโตเริ่มกลับเข้าฝูง และเนื่องจากมีสิงโตตัวเมียหลายตัวออกลูกพร้อมกัน ช่วงนี้ฝูงสิงโตจึงเหมือนสถานเลี้ยงเด็กอ่อนที่แม่สิงโตช่วยกันเลี้ยงดูและให้นมเด็ก ๆ โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นลูกตัวเองหรือไม่ 

เมื่อลูกสิงโตอายุมากขึ้นลายดอกจะค่อยจางลง จนเมื่ออายุได้ เดือนก็จะหายไปจนเกือบหมดและขนที่ปุกปุยก็กลายเป็นขนที่สั้นเกรียน ลูกสิงโตหย่านมเมื่อายุได้ 6-7 เดือน 



สิงโตหนุ่มจะเริ่มมีแผงคอเมื่ออายุได้ 18 เดือน ขนแผงคอยาวขึ้นและสีเข้มขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งอายุ ขวบ เมื่ออายุได้ 13-24 เดือนจะถูกขับออกจากฝูง 

สิงโตมีอัตราตายในวัยเด็กค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนเหยื่อ อาหารมักไม่เหลือมาถึงลูก สิงโตที่ตายก่อนอายุครบขวบมีประมาณ 14-73 เปอร์เซ็นต์ และที่ตายก่อนอายุครบ ขวบก็มีถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ 

สิงโตตัวเมียเมื่อเติบโตแล้วมักยังอยู่ในฝูงเดิม มีเพียงส่วนน้อยที่แยกออกไปสร้างฝูงใหม่ ในเซเรนเกตตีพวกที่แยกฝูงออกไปประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่อื่นอาจสัดส่วนมากกว่านี้ อายุเฉลี่ยของตัวเมียที่แยกฝูงออกไปคือ 2.5 ปี

ตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 5-6 ปี สิงโตแอฟริกาตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้สองปี แต่การผสมพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จมักเกิดขึ้นเมื่อสิงโตได้มีฝูงอยู่เป็นหลักแหล่งแล้วเท่านั้น เช่นในเซเรนเกตี สิงโตตัวเมียที่อยู่ฝูงเดิมตั้งท้องครั้งแรกเมื่ออายุ ปี ส่วนตัวเมียที่แยกฝูงออกมาตั้งท้องครั้งแรกเมื่ออายุเฉลี่ย ปี อย่างไรก็ตามลูกสิงโตที่เกิดในครอกแรก ๆ ของแม่มักไม่รอดจนโต 

สิงโตเอเชียตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุ ปี และผสมพันธุ์ได้จนถึงอายุได้ 15-16 ปี ตัวผู้ผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุ 5-8 ปี ส่วนในแหล่งเพาะเลี้ยง ทั้งตัวผู้และตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุ ปี และผสมพันธุ์ได้จนถึงอายุได้ 15 ปี

ปกติถ้าแม่สิงโตเลี้ยงลูกได้จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ (12 เดือน) ก็จะพร้อมตั้งท้องได้อีกครั้ง ห่างจากการตั้งท้องคราวก่อน 20 เดือน 

อัตราการตั้งท้องของแม่สิงโตเริ่มลดลงเมื่ออายุได้ 11 ปี และหยุดเมื่ออายุ 15 ปี ในสิงโตตัวผู้ แม้จะพบว่าในวัย 16 ปียังสามารถผลิตอสุจิที่แข็งแรงได้ แต่ความสามารถในการให้ผสมพันธุ์ได้สูญสิ้นไปเมื่อเสียตำแหน่งจ่าฝูงแล้วซึ่งมักเกิดขึ้นในวัย 8-10 ปี

ในธรรมชาติสิงโตแอฟริกาตัวผู้มีอายุขัยราว 12 ปี และอาจมากถึง 16 ปี ตัวเมียมีอายุขัย 15-16 ปี ตัวที่มากที่สุดอาจถึง 18 ปี สิงโตเอเชียตัวเมียมีอายุขัยราว 17-18 ปี ตัวที่มากที่สุดอาจมากถึง 21 ปี ส่วนตัวผู้มีอายุราว 16 ปี มากที่สุดถึง 18 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงสิงโตแอฟริกามีอายุได้ถึงกว่า 30 ปี 


ภัยคุกคาม

ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของสิงโตก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย พื้นที่แบบทุ่งหญ้าซาวันนาซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของสิงโตเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเช่นกันเพื่อใช้เป็นฟาร์มเปิดสำหรับปศุสัตว์ การแย่งที่ดินทำกิน ทำให้ต้องมีการเผชิญหน้ากัน บางครั้งสิงโตก็ไปล่าวัวควายของชาวบ้านโดยเฉพาะในช่วงที่สัตว์กีบในธรรมชาติอพยพย้ายถิ่น สิงโตที่อดอยากจะล่าวัวควายบ่อยครั้งขึ้น  พวกนี้จะถูกชาวบ้านล้างแค้น การที่สิงโตกินซากด้วยจึงถูกวางยาได้ง่าย

สิงโตในเอเชียประสบปัญหาจากที่อยู่อาศัยถูกทำลาย แม้ป่าเกียร์จะได้เป็นป่าคุ้มครอง แต่ก็ถูกรุกรานโดยเกษตรกรที่ปล่อยวัวควายและแพะไปหากินในพื้นที่ หรือแม้แต่การบุกรุกเข้าไปเก็บฟืน ทางการของอินเดียมีแนวคิดที่จะแบ่งสิงโตในป่านี้ไปอยู่ในป่าอื่นในประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ยากเย็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ประชากรมหาศาลอย่างอินเดีย ป่าที่วางแผนจะย้ายสิงโตไปอยู่คือ ป่าคูโน ซึ่งเป็นการสำรองประชากรสิงโตเผื่อเกิดเหตุการณ์หายนะกับป่าใดป่าหนึ่ง จำนวนที่คิดจะย้ายคือ 50-75 ตัว

สถานภาพ

ปัจจุบันคาดว่ามีสิงโตในทวีปแอฟริกาเหลืออยู่ประมาณ 30,000 ถึง 100,000 ตัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก สิงโตในแอฟริกาตะวันตกเหลืออยู่น้อยและลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทั่วทั้งทวีป สิงโตที่อยู่นอกเขตคุ้มครองลดจำนวนลงเรื่อย 

ประเทศที่ยังมีสิงโตอยู่ทั่วไปได้แก่ บอตสวานา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอธิโอเปีย เคนยา แทนซาเนีย ซาอีร์ และแซมเบีย สถานภาพในแองโกลา โมซับบิก ซูดาน และโซมาเลียยังไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากความไม่สงบในประเทศ คาดว่าในแองโกลายังมีสิงโตอยู่ทั่วไปแต่จำนวนน้อย ส่วนในโซมาเลียมีเป็นบางส่วนโดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศ

ในนามิเบีย ประชากรสิงโตในอุทยานแห่งชาติอีโตชามีประมาณ 300 ตัว บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ 130-200 คาปรีวี 40-60 ตัว บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ 35-40 ตัว 

ในซิมบับเว อุทยานแห่งชาติฮวางเก 500 ตัว อุทยานแห่งชาติโกนารีเซา 200 ตัว หุบเขาแซมบีซีและเซบังเวคอมเพล็กซ์ 300 ตัว

ในประเทศเบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูนตอนเหนือ ประเทศชาดตอนใต้ คองโกตอนใต้ ไอวอรีโคสต์ตอนเหนือ กานาตอนเหนือ กีนีตอนเหนือ กีนีบิสเชาตะวันออก มาลีตอนใต้ ไนจีเรียตอนเหนือ และอูกันดา คาดว่ามีสิงโตอยู่กระจัดกระจายและจำนวนน้อย ในประเทศบุรุนดี มลาวี ไนเจอร์ รวันดา เซเนกัล และแอฟริกาใต้ ประชากรส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในป่าอนุรักษ์

ประเทศที่คาดว่าสิงโตสูญพันธุ์ไปแล้วหรือถือได้ว่าสูญพันธุ์ไปแล้วได้แก่ ประเทศจิบูตี กาบอง เลโซโท มอริเตเนีย สวาซิแลนด์ และโตโก 

ความหนาแน่นของประชากรสิงโต (นับเฉพาะสิงโตตัวเต็มวัยและวัยรุ่นต่อ 100 ตารางกิโลเมตร) ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในพื้นที่ซาวูตี ในอุทยานแห่งชาติโชเบ ของบอตสวานามีความหนาแน่นต่ำประมาณ 0.17 ส่วนในอุทยานแห่งชาติคาราฮารีเกมสบ็อก อุทยานแห่งชาติอีโตชา มีประมาณ 1.5-2 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่คุ้มครองของทางแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้มีประมาณ 3-18 ตัว พื้นที่ ๆ ความหนาแน่นสูงที่สุดคือในป่าสงวนแห่งชาติมาไซมาราของเคนยา มีประชากร 30 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่นของสิงโตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำนวนของเหยื่อ พื้นที่หากินเฉลี่ย 26 ถึง 226 ตารางกิโลเมตรต่อฝูง เคยพบฝูงหนึ่งในอุทยานแห่งชาติอิโตชาที่มีพื้นที่หากินกว้างถึง 2,075 ตารางกิโลเมตร

สถานภาพของสิงโตเอเชียทุกพันธุ์อยู่ในระดับอันตราย ไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ ส่วนสิงโตแอฟริกาอยู่ในบัญชีหมายเลข ส่วนสิงโตพันธุ์บาร์บารีและสิงโตเคปได้สูญพันธุ์ไปแล้ว

ประเทศที่ห้ามล่า

แองโกลา แคเมอรูน คองโก กาบอง กานา มาลาวี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย รวันดา

ประเทศที่ควบคุมการล่า (อนุญาตให้ล่าเฉพาะตัวที่ก่อปัญหา)

เบนิน บอตสวานา บูร์กินาฟาโซ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอธิโอเปีย ไอวอรีโคสต์ เคนยา มาลี โมแซมบิก เซเนกัล โซมาเลีย ซูดาน แทนซาเนีย โตโก อูกันดา ซาอีร์ แซมเบีย ซิมบับเว

ประเทศที่มีการล่าเพื่อการกีฬา

บอตสวานา นามิเบีย แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย แซมเบีย ซิมบับเว

ไม่มีการคุ้มครอง

บุรุนดี กีนีบิสเชา เลโซโท นามิเบีย สวาซิแลนด์ แอฟริกาใต้

ไม่มีข้อมูล

บุรุนดี ชาด จิบูตี กีนี
Panthera leo
ชื่อไทยสิงโต
ชื่อวิทยาศาสตร์Panthera leo
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยPantherinae
สกุลPanthera

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/lion.htm
  • Wild Cats of the World, Mel Sunquist and Fiona Sunquist, the University of Chicago press.
  • http://www.canuck.com/iseccan/lion.html
  • http://lynx.uio.no/catfolk/afrleo01.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 27 ธ.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai