กระต่ายป่า

Burmese Hare, Siamese Hare

Lepus peguensis

กระต่ายป่าเป็นกระต่ายในธรรมชาติเพียงชนิดเดียวของไทย รูปร่างทั่วไปไม่ต่างจากกระต่ายเลี้ยง มีความยาว หัว-ลำตัว 36-50 เซนติเมตร สีขนเทาแซมขาว

กระต่ายป่ามีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำจินด์วินในพม่า ไทย กัมพูชา ตอนใต้ของลาวและเวียดนาม ทางใต้แพร่ไปจนถึงคอคอดกระ ส่วนใหญ่พบที่ระดับความสูงต่ำกว่า 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่เคยพบบนเขาที่มีระดับความสูงถึง 1,400 เมตร 



ชอบอาศัยอยู่ในป่าเต็งรังพื้นที่ต่ำ ทุ่งหญ้า อาจพบได้แม้แต่ในทุ่งนาที่ใช้น้ำจากฝนตามฤดูกาล แต่มักหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ทำนาปรัง ในบางพื้นที่ในเขตกระจายพันธุ์กลับไม่พบประชากรกระต่ายป่าเลย เช่น ที่ราบสูงนากายในประเทศลาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในประเทศไทย สาเหตุอาจเป็นเพราะระดับความสูงของพื้นที่สูงเกินไป 

หากินกลางคืน ตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งเช้า อาหารหลักคือหญ้า เปลือกไม้ 

ออกลูกได้ปีละหลายครอก ออกลูกครั้งละ 1-7 ตัว (เฉลี่ย 3-4 ตัว) ตั้งท้องนานประมาณ 35-40 วัน อายุขัยประมาณ ปี 

แม้กระต่ายป่าจะถูกล่าอย่างมาก แต่การล่าก็มักไม่ใช่ภัยคุกคามหลัก หากแต่เป็นการรุกล้ำทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยที่คุกคามการอยู่รอดของกระต่ายป่า อย่างไรก็ตาม กระต่ายป่าก็ยังมีจำนวนประชากรอยู่มาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก จึงมีสถานะไม่ถูกคุกคาม ในประเทศไทยก็ไม่นับเป็นสัตว์คุ้มครอง

Lepus peguensis
ชื่อไทยกระต่ายป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์Lepus peguensis
ชั้นMammalia
อันดับLagomorpha
วงศ์Leporidae
สกุลLepus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai